วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

อัล – อมีน

อัล อมีน ( ฮศ. 194 – 98 , คศ. 809 – 13 )
            เมื่อฮารูน อัร รอชีดสิ้นชีพลง โอรสท่านแรกของท่านคืออมีนก็ขึ้นครองราชย์ อมีนเป็นกษัตริย์ที่โปรดปราน ความสำราญและหรูหราฟุ่มเฟือย จึงทรงทิ้งราชการงานเมืองไว้ในกำมือของเอกอัครเสนาบดี คือ ฟัฎล์ อิบนุ รอบีอ์ ( Faz libn Rabi ) ส่วนตนเองก็หมกมุ่นอยู่ในความสำราญต่าง ๆ เมื่อครั้งที่ฮารูนมีชีวิตอยู่นั้นได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรถึงการแต่งตั้งอมีนและมะมูนเป็นเคาะลีฟะห์ต่อมาตามลำดับพร้อมด้วยคำสัตย์สาบานของโอรสทั้งสองว่าจะทำตามที่ท่านทรงจัดไว้ และจะไม่ละเมิดสัญญานั้น ในขณะนั้นมะมูนโอรสที่สองกำลังเป็นผู้ปกครองแคว้นต่าง ๆ ทางทิศตะวันออก นิสัยใจคอของเขารวมทั้งการปกครองที่ละมุนละหม่อมได้ชนะใจคนส่วนมาก ชื่อเสียงของมะมูนจึงระบือไปไกล
            ความกว้างขวางรวมทั้งความมั่นคงและอำนาจของเขาสร้างความหวาดหวั่นให้แก่อมีน อมีนจึงทรงถอดถอนมะมูนออกจากตำแหน่งผู้ปกครองแคว้นคูราซานและแต่งตั้งมูซาโอรสของท่านเองให้เป็นผู้สืบต่อตำแหน่งเคาะลีฟะห์ทั้งนี้เป็นการละเมิดสัญญาที่ได้ให้ไว้แก่พระราชบิดา มะมูนจึงจำต้องประกาศสงครามกับอมีน
            พี่น้องสองคนนี้มีนิสัยใจคอแตกต่างกัน รวมทั้งสติปัญญาและความสามารถด้วย อมีนนั้นเป็นโอรสของ สุบัยดะห์ ( Zubayda ) และมีลุงทางฝ่ายมารดา คือ อีซา ( lsa) เป็นครู ส่วนมะมูนเป็นโอรสของมเหสีชาวเปอร์เซียของฮารูน ถึงแม้ว่าคนทั้งสองจะเล่าเรียนมาเหมือน ๆ กันก็ตาม แต่ อมีนโตขึ้นเป็นคนที่ไม่เอาจิงเอาจัง โปรดปรานความสนุกสนาน บันเทิงต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะรู้ภาษาอาหรับดีก็ตาม ส่วนมะมูนก็มีความรู้พอ ๆ กัน  เขาเรียนรู้กฎหมายอิสลาม ศาสนาและปรัชญา

สงครามกลางเมือง ระหว่างอมีนกับมะมูน

            ก่อนสิ้นชีพ ฮารูน อัร รอชีด ได้นำทัพไปที่คูราซานในระหว่างเวลานั้นได้ยกกองทัพและทรัพย์สินของหลวงซึ่งได้ทรงนำไปให้แก่มะมูน เพื่อป้องกันแว่นแคว้นทางทิศตะวันออก เมื่อฮารูนสิ้นชีพลง ฟัฎล์ บิน ริบีอ์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาใหญ่ของฮารูนและของ
อมีนมากกว่ามะมูนก็ได้นำกองทัพและทรัพยสินเหล่านั้นมาให้แก่อมีน ซึ่งเป็นการละเมิดคำสั่งครั้งสุดท้ายของฮารูน
มะมูนจึงสั่งปิดดินแดนของเขาเสียเพื่อว่าพวกสอดแนมจะได้ไม่เข้ามาแคว้นคูราซานได้
            อมีนได้ส่งกองทัพซึ่งมีจำนวนพล 40,000 คน มายังคุราซานทันทีโดยมีอะลีบินอีซา ( Ali bin lsa ) เป็นแม่ทัพมะมูนจึงส่งกองทัพชาวคูราซานซึ่งมีจำนวนพลเพียง 4 ,000 คน มีซะฮ์รี บินหุสัยน์ ( Zahir bin Husayn ) ไปรับมือกองทัพทั้งสองปะทะกันภายใต้กำแพงเมืองเรย์ ( Ray ) เมื่อเดือนพฤษภาคม คศ. 811 และเกิดการต่อสู้กันอย่างรุนแรง ในที่สุดอะลี บิน อีซา ก็เสียชีวิตเมื่อได้ชัยชนะต่อกองทัพของอะลีแล้ว มะมูนก็ประกาศตนเป็นเคาะลีฟะห์ ในปี คศ. 814 อมีน ถูกฆาตกรคนหนึ่งลอบสังหาร

อัล มะมูน  ( ฮศ. 192 – 218 , คศ. 813 – 933 )

  เมื่อพระเชษฐาสิ้นชีพลงแล้ว เคาะลีฟะห์มะมูนก็เข้าถือบังเหียน การปกครองราชอาณาจักร แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เดินทางมาเมืองหลวง เพราะมัวเป็นธุระอยู่ที่เมืองเมิร์ฟ เป็นผลทำให้เกิดความระส่ำระส่ายวุ่นวายขึ้นในรัฐ สถานะการณ์ในอิรัก และซีเรียก็เลวร้าย เชื้อสายของราชวงศ์อุมัยยะห์ คนหนึ่งมีนามว่า นาซิร อิบนุสะบาด ( Nasir ibn Sabath ) ซึ่งจงรักภักดีต่อราชวงศ์อุมัยยะห์ได้จับอาวุธขึ้นเพื่อแก้แค้นแทนราชวงศ์ที่ถูกโค่นล้มไป และทำการท้าทายกองทัพหลวงอยู่เป็นเวลาห้าปี ในปีต่อมาได้เกิดการกบฎอย่างรุนแรงขึ้น อิบนุ ฏอบาฏอบา ( lbn Taba – taba ) ได้ปรากฎเมืองขึ้นที่ คูฟะห์ และเกลี้ยกล่อมประชาชน ให้จงรักภักดีต่อเชื้อสายของท่านศาสดา เขาได้รับสนับสนุนจาก อบูสะรอยา ( Abu Saraya ) ซึ่งเป็นนักผจญภัยที่รู้จักกันดี เขาได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของสะรอยาไปโจมตีกองทัพหลวงเสียแหลกลานแต่สะรอยาไม่เต็มใจที่จะแสดงบทบาทเป็นตัวรองอีกต่อไปจึงได้วางยาพิษอิบนุฏอบาฏอบาตายและตั้งมูฮัมมัดบินมุฮัมมัด
( Muhammad bin Muhammad ) ซึ่งเป็คนในตระกูลของท่านอะลีแทน ชัยชนะของอบูสะรอยาดำเนินต่อไปจนเมืองบัศเราะห์วาซิฏ ( Wasit ) และมดาอิน ( Madain ) ตกอยู่ในมือของเขา มักกะห์ มะดีนะห์ และยะมัน ก็ตกอยู่ในมือของพวกอะลีซึ่งกระทำการร้ายต่าง ๆ นานา เมื่ออบูสะรอยาเริ่มจะรุกเข้ามาที่เมืองหลวง ฮะซันบินซาฮล์ก็รีบส่งฮัรซะมา บิน อัยยัน ( Harthama bin Ayan ) มาต่อสู้ เหตุการณ์ก็กลับกลายไปอย่างไม่คาดฝัน กองทัพฝ่ายอะลีถูกขับไล่กลับไปทั่วทุกหนแห่ง และอิรักทั้งประเทศก็ตกอยู่ในมือของอับบาซียะห์อีกครั้งหนึ่ง คูฟะห์ยอมจำนนและบัศเราะห์กลับคืนมาด้วยการถูกโจมตี อบูสะรอยาหนีไปอยู่ที่เมโสโปเตเมียแต่ภายหลังถูกจับได้และถูกตัดศรีษะ การกบฎในอารเบียก็ยุติลง ฮัรซะมารับการขอร้องให้ไปที่อิรัก แต่เขาปฏิเสธและได้ไปยังเมืองเมิร์ฟแทน  เขาต้องการที่จะให้เคาะลีฟะห์ทรงทราบถึงสถานะการณ์ต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง ซึ่งเอกอักครเสนาบดีได้ปกปิดไว้แต่เอกอัครเสนาบดีได้ยุยงเคาะลีฟะห์เสียจนกระทั่งเมื่อแม่ทัพชรามาถึงเขาก็ถูกจับตัวเข้าคุกและได้เสียชีวิตลงในนั้น
            เมื่อข่าวการสิ้นชีพของฮัรซะมา ถึงหูประชาชนในบัฆดาดประชาชน ก็ลุกฮือขึ้นต่อต้าน อัล ฮะซัน
            หลังจากต่อสู้กันได้สามวัน ก็ขับเขาออกจากเมืองไปหลบภัยอยู่ในมะดีนะห์ และต่อมาก็หนีไปยังวาซิฏ ประชาชนยกมันซูรบินมะห์ดี ( Mansur bin Mahdi ) ขึ้นเป็นหัวหน้า แต่เขาปฏิเสธไม่ยอมเป็นเคาะลีฟะห์แต่ยินยอมที่จะทำหน้าที่ผู้ปกครองเมืองในนามของ อัล มะมูน  
            ในระหว่างนั้นที่เมืองเมิร์ฟ มะมูนได้ทรงตัดสินใจที่เป็นเสมือนสายฟ้าฟาดแรงบนราชวงศ์อับบาซียะห์ นั่นคือ ในปี ฮศ. 202 หรือ คศ. 817 ได้ทรงแต่งตั้งให้อิหม่านอะลีอัร ริฏอ ( Ali ar – Riza )  ผู้เป็นบุตรของมูซาอัล กอซิม  ( Musa al – Kazim ) ซึ่งอยู่ในตระกูลของท่านอะลีเป็นเคาะลีฟะห์สืบต่อท่านและทรงให้เปลี่ยนสีประจำราชอาณาจักรจากสีดำเป็นสีประจำราชวงศ์อับบาซียะห์ มาเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสีประจำตระกูลของท่านอะลี การตัดสินใจนี้ก่อให้เกิดการคัดค้านไปในหมู่พวกอับบาซียะห์ ประชาชนปฏิเสธไม่ยอมให้สัตย์ปฏิญาณต่ออิม่ามอะลี ประกาศให้ถอดมะมูนออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งอิบรอฮีม บินมะห์ดี ( lbrahim bin Mahdi ) เป็นเคาะลีฟะห์แทน แว่นแค้วนอื่น ๆ ก็ทำตาม กรุงบัฆดาด ในช่วงเวลาวิกฤตการณ์นี้ อะลีบัร ริฎอได้เรียนให้มะมูนทราบถึง สถานะการณ์ต่าง ๆ ที่แท้จริงและขอร้องให้ ท่านไปที่บัฆดาดสักครั้งหนึ่งมะมูนทรงตระหนักว่าการกบฎนี้เกิดขึ้นเพราะท่านทรงละทิ้งหน้าที่ให้ฟาฎิลนานเกินไป จึงทรงสั่งให้ราชสำนักย้ายกลับไปยังบัฆดาด เมื่อมาถึงซารูก ( Saruk ) ก็ทราบว่าฟัฎล์ถูกฆ่าตายในขณะอาบน้ำ
            และหลังจากนั้นไม่นานอะลี อัร ริฎอ ก็ตายลงอย่างกระทันหัน เมื่อฟัฏล์สิ้นชีพลงน้องชายของเขาคือ ฮะซันบินซาฮล์ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครเสนาบดีแทน และ ธิดาของเขาชื่อ บูรอน ( Buran ) ก็ได้วิวาห์กับมะมูนในภายหลังในปี ฮศ. 204 หรือ คศ. 819 มะมูนก็เข้าเมืองบัฆดาดแล้วเหตุการณ์ไม่สงบทั้งหลายก็หมดไป
            ติฮิร ( Tahir ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองแคว้นทางตะวันออก เมื่อเขาสิ้นชีพลงฎ้อลฮะห์ ( Talha ) บุตรของเขาก็ได้รับตำแหน่งแทน ส่วนบุตรชายอีกคนหนึ่งของเขาซึ่งชื่อว่าอับดุลลอฮ์ก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ปกครองอียิปต์และซีเรีย อับดุลลอฮ์ชอบมะมูนมากจึงนำตัวนาซิร บิน สะบาด ซึ่งหลบหนีไป มามอบตัวที่เมโสโปเตเมียแล้วอับดุลลอฮ์ก็ยกทัพต่อไปยังอียิปต์ซึ่งสถานะการณ์กำลังเลวร้าย โดยถูกรุกรานจากมุสลิมสเปน ซึ่งเป็นฝ่ายราชวงศ์อุมัยยะห์ เมื่อมาถึงเมืองอเล็กซานเดรีย อับดุลลอฮ์ก็พบว่าคนเหล่านั้นกำลังก่อความวุ่นวาย จึงขอให้พวกเขายอมแพ้เสีย คนเหล่านั้นได้ขออนุญาตไปอยู่ที่เกาะครีท ซึ่งอับดุลลอฮ์ก็อนุญาต เมื่อคนเหล่านั้นไปถึงเกาะครีตได้ไม่นานก็ได้ช่วยต่อสู่ยึดเอาเมืองครีตมาเป็นของมุสลิมได้ด้วยความช่วยเหลือจากอียิปต์ และสองปีก่อนหน้านั้นซิซิลีก็ถูกยึดเอามาเป็นราชอาณาจักรมุสลิมโดยซิยาดะตุลลอฮ์ อัฆลาบ
( Ziyadatullah  Aghlab )
            ต่อจากนั้น อับดุลลอฮ์ก็เริ่มปราบโจรบาเบค ( Babek ) โจรผู้มี ชื่อคนนี้เป็นที่หวาดเกรงของผู้คนในแว่นแคว้นภาคเหนือมาเป็นเวลาถึงยี่สิบปีแล้ว เป็นคนทารุณโหดร้าย ชอบฆ่าผู้ชายและจับตัวเอาผู้หญิงไป แต่ในที่สุดก็ถูกกองทัพมุสลิมขับไล่ไป จึงแก้แค้นโดยจักรพรรดิ์ ไบแซนไตน์อย่างลับ ๆ มาโจมตีเขตแดนมุสลิม อับดุลลออ์ก็ปราบศัตรูได้ เคาะลีฟะห์จึงทรงให้สร้างฐานทัพที่แข็งแกร่ง ขึ้นที่เมืองทยานา ( Tyana ) หลังจากนั้นท่านก็ทรงเป็นแม่ทัพไปยังเอเซียไมเนอร์ แต่สิ้นชีพโดย ประชวรเป็นไข้เพราะทรงสรงน้ำในแม่น้ำซิล ( Chill ) ที่เมืองเพเดนตัน ( Pedendon ) ในเดือนสิงหาคม คศ. 833 หรือ ฮศ. 218 ในขณะพระชนม์มายุได้ 48 ปี

ผลดีผลเสียในรัชสมัยของมะมูน

            ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอัลมะมูนจะไม่ใช่กษัตริย์ ที่เด่นมากท่านหนึ่ง แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ ท่านมิได้เป็นเพียงนักรบที่เก่งกล้า เท่านั้น แต่ยังเป็นนักบริหารที่ดีด้วย  ความตั้งใจในการทำงาน ความฉลาดหลักแหลม ความเมตากรุณา ไหวพริบและความมีใจกว้าง เป็นลักษณะของท่าน รัชสมัยของท่านเป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์อิสลาม ช่วงเวลายี่สิบปีของการปกครอง ท่านได้ทิ้งร่องรอยการพัฒนาด้านสติปัญญาไว้ให้ชาวมุสลิมในเรื่องความคิดรอบด้าน ความก้าวหน้าของสติปัญญานี้มิได้จำกัดอยู่แต่เพียงสาขาหนึ่งใดเท่านั้น แต่ขยายไปทั่วทุกสาขา ในวงการพัฒนา คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ การแพทย์ และปรัชญา เจริญรุ่งเรืองเป็นพิเศษในรัชสมัยของท่าน ๆ ทรงตระหนักได้ดีว่าความสุขของประชาชนขึ้นอยู่กับการศึกษาและวัฒนธรรม จึงทรงแปลความคิดนี้ให้เป็นการกระทำโดยทรงเปิดโรงเรียนและวิทยาลัยให้แก่คนทุกเชื้อชาติ เสรีภาพในการถือศาสนา ก็มอบให้แก่ทุกคน ทรงสร้างสภาแห่งรัฐขึ้น ซึ่งชาวมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมก็มีส่วนร่วมเท่า ๆ กัน
            ตัวท่านเองสนใจในเรื่องคำสอนสาสนา  ทรงรับคำสอนของฝ่ายมุอ์ตะซิละฮ์
( Mutazilite ) ในเรื่องความประสงค์อิสระและการกำหนดสภาวะและรู้สึกตกใจเมื่อมีความคิดแพร่ไปในหมู่ผู้รู้ชาวมุสลิมว่า กุรอ่านไม่ใช่วัจนะของพระผู้เป็นเจ้า ในปี ฮศ. 212 หรือ คศ. 827 ได้ทรงประกาศใช้ลัทธิ มุอ์ตาซีละอ์เป็นลัทธิประจำรัฐ ผู้ที่ถือคำสอนเก่า ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนนอกศาสนาในขณะเดียวกัน ทรงสั่งพลเมืองทั้งหมดของท่านให้เกียรติท่านอะลีในฐานะเป็นคนดีที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างมาหลังจากท่านศาสดาและสั่งห้ามการยกย่องมุอาวิยะห์ ในปี ฮศ. 218 หรือ คศ.833 ก็ทรงออกทฤษฎีใหม่ให้แพทย์และผู้พิพากษาทุกคน ละความคิดที่ว่ากุรอ่านมิใช่วัจนะของพระผู้เป็นเจ้านั้นเสียคนส่วนมาก  เห็นด้วยกับเคาะลีฟะห์ แต่ยังมีบางคนที่ยึดมั่นอยู่กับความเชื่อของตน
            รัชสมัยของมะมูนเป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดทางด้านสติปัญญาในประวัติศาสตร์ของอิสลาม มีการฟื้นฟูการศึกษา หาความรู้ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก ราชสำนักของท่านเปิดรับนักวิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ กวี แพทย์ และนักปรัชญาอย่างกว้างขวาง นอกจากเป็นรัชสมัยที่ภาษาศาสตร์ และไวยกรณ์แล้ว ยังเป็นสมัยแห่งการรวบรวมหะดิษอีกด้วย มีนักรวบรวมหะดิษ คนสำคัญอย่างเช่น บุคอรี ( Bukhari ) และนักประวัติศาสตร์อย่างเช่น อัล วากิดี ( Al – Wakidi ) ยิ่งกว่านั้นราชสำนักของท่านยังต้อนรับชาวยิวและคริสเตียนผู้รู้แตกฉานในภาษาอาหรับ และวรรณกรรมกรีกอีกด้วยท่านได้ทรงแปลงานที่ อัล มันซูร พระบิดาของท่านได้ตั้งต้นไว้จนสำเร็จภายใต้การแนะนำของท่าน หนังสือภาษาสันสกฤต คณิตศาสตร์และปรัชญาของนักกรีกวิทยาศาสตร์ของยูคลิด
( Euclid ) และปโตเลมี ( Ptolemy ) ได้รับการแปลเป็นภาษาอาหรับ คอสตา ( Costa ) บุตรของลุค  ( Lurk ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แปลภาษากรีก และซีเรีย ยะห์ยา บินฮารูน ( Yahya bin Harun ) เป็นผู้แปลภาษาเปอร์เซีย ส่วนหุสันย์ผู้เป็นพาหมณ์เป็นผู้แปลภาษาสันสกฤษให้เป็นภาษาอาหรับ เนื่องจากแรงงานของบรรดาผู้รู้เหล่านี้เองทำให้ชาติต่าง ๆ ในยุโรปซึ่ง ตอนนั้นตกอยู่ท่ามกลางความมืดมนในสมัยกลางได้กลับรู้จักมรดก ทางวิทยาศาสตร์และปรัชญากรีก อันเคยเป็นสมบัติพวกเขาเองแต่ถูกละลืมไปนั้นอีกครั้งหนึ่งภาษาเปอร์เชียได้รับการสนันสนุนเป็นการใหญ่ ได้มีการสร้างหอดูดาวขึ้นที่ราบแห่งแทคมอร์ ( Tadmore ) เพื่อศึกษาดาราศาสตร์และภูมิสาสตร์ ในสมัยนี้มีการสังเกตุศึกษาด้านดาราศาสตร์ได้ก้าวหน้าไปมาก อบุลฮะซัน ( Abul Hasan ) ได้ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์ กวีอับบาส ( Annas ) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มบทกวีสมัยใหม่ของเปอร์เซียและอัล คินดี ( Al – Kindi ) ได้มาทำงานอยู่ใน บัยตุลฮิกมะห์ ” ( Bait – al – Hikmat ) อันมีชื่อเสียงขึ้นในนครบัฆดาด ตัวเคาะลีฟะห์มะมูนเองนั้น ทรงสนพระทัยในเรื่องปรัชญาเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับกำหมดวันอังคารทุกสัปดาห์ไว้เป็นวันสำหรับพูดคุยอภิปรายเรื่องปรัชญาและนักวิชาการโดยเฉพาะ ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่ารัชสมัยของมะมูนนี้เป็นสมัยที่วิทยาการรุ่งเรืองมากในประวัติศาสตร์อิสลาม

1 ความคิดเห็น: