วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

ภูมิหลังอิสลาม

1-ภูมิหลังของอิสลาม
เผ่าเซมิติค(Semitic)
เซมิติคเป็นชื่อของคนเผ่าหนึ่งในบรรดาเผ่าพันธ์ทั้งหลายของโลกที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่อารยธรรมโบราณ มูซา(มูซา เป็นชื่อเรียกในศาสนาอิสลาม ชาวตะวันตกมักจะเรียกว่า โมเสส)ผู้เป็นศาสดาของศาสนาจูดาย อีซา(อีซา ชื่อนี้รู้จักกันในนามของ เยซู ซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาคริสเตียน) และมูฮัมหมัดศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม ต่างก็เป็นลูกหลานของคนเผ่าเซมิติคที่มีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกซึ่งก็คือดินแดนอารเบียอันเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาอิสลามนั่นเอง บรรพบุรุษของคนเหล่านั้นคงได้อาศัยอยู่ที่นี่ระยะหนึ่งและคงจะเป็นเผ่าเดียวกัน
ต่อมาภายหลังได้อพยพโยกย้ายไปยังที่ต่างๆของดินแดนรูปจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์(The Fertile Crescent)และกลายเป็นชนชาติต่างๆกันในเวลาต่อมา คือชาวบาบิโลเนียน อัสซีเรียน โฟนิเชียนและฮิบรู(ยิว)เป็นต้น เมื่อประมาณปี3500ก่อนค.ศ. ชนชาวเซมิติคสาขาหนึ่งได้อพยพจากถิ่นฐานดั้งเดิมของตน ไปตั้งหลักแหล่งใหม่เป็นการถาวรอยู่ที่หุบเขาไทกริส-ยูเฟรติส(Tigris-Euphratis)ซึ่งขณะนั้นมีชาวสุมาเรียน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเจริญสูงกว่าครอบครองอยู่ก่อนแล้ว ผลจากการสัมพันธ์ติดต่ออย่างใกล้ชิดระหว่างชาวเซมิติคกับชาวสุมาเรียนนี่เอง ได้ก่อให้เกิดอารยธรรมอันยิ่งใหญ่อันหนึ่งขึ้นแก่โลก
หลังจากที่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีซพิชิตเปอร์เชียได้แล้ว อารยธรรมตะวันออกสายนี้ก็ได้แพร่หลายเข้าไปสู่ยุโรป และชาวกรีซได้รับอารยธรรมนี้ไว้หลายทางด้วยกัน การผสมผสานระหว่างอารยธรรมตะวันออกกับตะวันตกดังกล่าวนี้นั่นเองที่ได้ทำให้เกิดอารยธรรมใหม่ขึ้นมา ที่เราเรียกว่า อารยธรรมเฮลเลนิค(Hellenic)
ต่อมาเมื่อชาวโรมันพิชิตกรีซได้ในปี 146 ก่อนค.ศ. พวกโรมันก็ได้กลายเป็นทายาทผู้สืบอารยธรรมเฮลเลนิคนี้ต่อไป ในศตวรรษที่ 7 แห่งค.ศ. ชนชาวมุสลิมพิชิตเปอร์เชียและโรมได้ ชาวมุสลิมก็ได้รับมรดกอารยธรรมนี้กลับมาด้วย
เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่เราจะต้องรู้ถึงอารยธรรมของประเทศต่างๆเหล่านี้กันเสียก่อนที่เราจะศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของชนชาวอาหรับ
บาบิโลนและอารยธรรมบาบิโลเนีย (Babilon-Babilonian Civilization)
ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ที่อยู่ระหว่างแม่น้ำใหญ่สองสายคือ แม่น้ำไทกริสกับยูเฟรติสนั้น เราเรียกกันว่า เมโสโปเตเมีย(Mesopotamia)
ในสมัยโบราณดินแดนทางภาคเหนือของเมโสโปเตเมียเรียกกันว่า อัสซีเรีย (Asseria)และดินแดนทางภาคใต้เรียกว่า บาบิโลเนีย(Babilonia) ดินแดนทางภาคใต้นี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธ์ธัญญาหาร บาบิโลเนียนั้นแบ่งออกเป็นนครรัฐเล็กๆที่เป็นอิสระจำนวนมาก แต่ละนครรัฐก็จะมีเทพเจ้าประจำของตนเอง และปกครองโดยเจ้าชายซึ่งสวมตำแหน่งกษัตริย์ หรือเจ้า นครรัฐเหล่านี้ต่างก็รบพุ่งกันอยู่เสมอเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ทางการเมือง
ชาวแอคคาเดีย(Accadia) ซึ่งเรียกชื่อตามชื่อเมืองหลวงของตนคือ แอคคาดู(Accadu) เป็นชาวเซมิติคกลุ่มแรกที่อพยพมาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางตอนใต้ของเมโสโปเตเมีย ปฐมราชวงศ์ของชาวแอคคาเดียก็คือ ราชวงศ์ แอคคัด(Accad) ซึ่งสถาปนาขึ้นโดยกษัตริย์ซาร์กอนที่ 1 (Sargon 1)ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียง(ประมาณปี 2800 ก่อน ค.ศ.)พระองค์ได้รวมดินแดนต่างๆในหุบเขานี้เข้าไว้ภายใต้การปกครองของพระองค์ และได้จัดการปกครองให้เป็นระเบียบด้วยการปกครองแบบรวมอำนาจ และการปกครองระบบนี้ก็ได้กลายเป็นตัวอย่างของรัฐอื่นๆที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
อมอไรท์ เป็นชาวเซมิติคกลุ่มที่สองที่ได้อพยพจากอัสซีเรียมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่หุบเขาลุ่มแม่น้ำยูเฟรติส ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ ฮัมมูราบี(Hammurabi) (2123-2081ก่อน คศ.)กษัตริย์ฮัมมูราบีเป็นนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบาบิโลเนียโบราณ และเป็นนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกยุคโบราณ พระองค์ได้ทำสงครามขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง ได้รวมเอาดินแดนในหุบเขาลุ่มแม่น้ำยูเฟรติสทั้งหมด อันได้แก่ อัคคัด และสุมาเรียเป็นต้น เข้าไว้ด้วยกัน แล้วให้ชื่อใหม่ว่า บาบิโลน พระองค์ได้ทรงรวบรวมกฏหมายของบาบิโลเนียโบราณเข้าเป็นประมวลกฏหมายที่เรียกว่า ประมวลกฏหมายของฮัมมูราบี ซึ่งเป็นกฏหมายที่อาจจะกล่าวได้ว่า เก่าแก่ที่สุดที่เคยใช้มาในโลกสมัยโบราณ ซึ่งประกอบไปด้วยกฏหมายต่างๆเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองชั้นต่างๆในอาณาจักรบาบิโลเนีย ประมวลกฏหมายของฮัมมูราบีได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อกฏหมายโรมัน และกฏหมายยุโรปทุกวันนี้ก็สร้างขึ้นโดยอาศัยรากฐานของกฏหมายโรมันนั่นเอง
หลังจากกษัตริย์ฮัมมูราบีสิ้นพระชนม์แล้ว ประวัติศาสตร์ของบาบิโลนก็ค่อยๆเลือนหายไป ชนหลายเผ่าได้เข้ามาต่อสู้แย่งชิงกันเพื่อความเป็นใหญ่ทางการเมืองอยู่ในดินแดนลุ่มน้ำแห่งนี้ จนในที่สุดอาณาจักรบาบิโลเนียทั้งหมดก็ถูกชาวอัสซีเรียเข้าครอบครองเมื่อศตวรรษที่ 8 ก่อนคศ.
ต่อมาเมื่อชาวอัสซีเรียสิ้นอำนาจลง บาบิโลเนียก็กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ราชวงศ์คอลเดียน(Chaldean)ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นบาบิโลเนียใหม่(625-638 ก่อนคศ.) ผู้สร้างราขวงศ์ใหม่นี้คือ กษัตริย์นาโบโปอัสซาร์(Nabopolasser) และโอรสของพระองค์คือ เนบูชัดเนสซาร์(Nebuchadnezzar) ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์นักปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของราชวงศ์นี้ บาบิโลนได้กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่งพอๆกับบาบิโลนสมัยโบราณ ก็ในรัชสมัยของกษัตริย์พระองค์นี้เอง กษัตริย์เนบูชัดเนสซาร์ได้ขยายอาณาจักรของพระองค์ไปจนถึงชายแดนอียิปต์ ทรงรบชนะกษัตริย์ยิวแห่งยูดาห์(Judah) และทำลายเมืองเยรูซาเล็มลงได้ในปี 586 ก่อน คศ. แต่พอถึงตอนศควรรษที่ 6 ก่อนคศ. อาณาจักรบาบิโลเนียใหม่ หรือคอลเดียนก็ตกอยู่ในการครอบครองของเปอร์เชีย
ในประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรมนั้น บาบิโลเนียโบราณนับว่าเป็นเพ็ชรน้ำเอกเม็ดหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย ชาวบาบิโลเนียเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเกษตรกรรม พวกเขาขุดคลองเพื่อทดน้ำเข้ามาในผืนดินในเวลาที่ฝนแล้ง และสร้างเขื่อนกั้นน้ำไว้ไม่ให้ท่วมทำลายพืชผลในยามที่มีน้ำมาก
ในด้านการอุตสาหกรรมและการค้าก็เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก พ่อค้าชาวบาบิโลเนียได้ค้นพบวิธีการทำบัญชีและการชั่งการวัดแบบใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่คนโบราณได้รับเอามาใช้กัน ต่อมาบาบิโลเนียเป็นศูนย์กลางของการค้าในลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติสอยู่เป็นเวลาเกือบสองพันปี
ทางด้านศาสนา ชาวบาบิโลเนียนับถือบูชาเทพเจ้ามากมาย เทพเจ้าสำคัญของชาวบาบิโลเนียก็คือ เทพมาร์ดุ๊ค(Marduk) ลักษณะสำคัญของศาสนาก็คือ เชื่อในเรื่องดวงวิญญาณและภูติผีโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูติผีแห่งความชั่ว ลักษณะอีกอย่างก็คือการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตจากความเคลื่อนไหวของดวงดาวต่างๆ นักโหราศาสตร์ชาวคอลเดียมีความสามารถในการทำนายโชคเคราะห์ จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วในโลกสมัยโบราณ นอกจากนี้ชาวบาบิโลเนียยังได้สร้างระบบการเขียนตัวอักษรแบบใหม่ขึ้นอีกด้วย ซึ่งเรียกกันว่าอักษรลิ่ม(cuneiform)ซึ่งถือกันว่า เป็นวิธีการเขียนตัวอักษรในขั้นที่พัฒนาสูงขึ้นกว่าการเขียนตัวอักษรแบบภาพของอียิปต์โบราณ เครื่องหมายแบบตัวอักษรที่ชาวบาบิโลเนียใช้นั้นมีจำนวนถึงสี่หรือห้าร้อยตัวทีเดียว
ในด้านวิทยาศาสตร์ชาวบาบิโลเนียก็มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ในด้านดาราศาสตร์ก็เจริญกว่าชาวอียิปต์โบราณเพราะพวกบาบิโลเนียสนใจในเรื่องโหราศาสตร์อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับดวงดาวอยู่แล้ว ชาวบาบิโลเนียแบ่งกลุ่มดาวออกเป็น 12 จักรราศี พร้อมทั้งได้กำหนดเครื่องหมายสำหรับแต่ละราศีและตั้งชื่อให้แก่กลุ่มดาวแต่ละกลุ่มด้วย พวกเขาสามารถบอกได้ว่าเมื่อไรจะมีสุริยคราสและจันทรคราส นักดาราศาสตร์ชาวบาบิโลเนียได้เป็นผู้ประดิษฐ์นาฬิกาแดดและนาฬิกาน้ำมาใช้ ปฏิทินที่พวกเขาใช้ก็ก้าวหน้ากว่าปฏิทินของชาวอียิปต์ คือแบ่งออกเป็น 12 เดือน แบ่งวัน และคืนออกเป็นชั่วโมงและแบ่งชั่วโมงออกเป็นนาทีและรวมเจ็ดวัน เป็นสัปดาห์ ในด้านคณิตศาสตร์พวกบาบิโลเนียก็ได้สร้างระบบทศนิยมขึ้น ซึ่งความรู้ระบบนี้ก็ได้ตกทอดเป็นมรดกมาจนถึงโลกปัจจุบันนี้
ชาวอัสซีเรียกับอารยธรรมอัสซีเรีย
ชนเผ่าเซมิติคกลุ่มที่สองที่มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในดินแดนทางภาคเหนือของเมโสโปเตเมียก็คือ ชาวอัสซีเรีย กษัตริย์อัสซีเรียได้ขยายเขตแดนออกไปด้วยการทำสงครามอย่างโหดร้ายทารุณ จนกระทั่งกลายเป็นอาณาจักรอันมีพลังมหาศาล กษัตริย์ซากอนที่ 2(Sargon ll)เป็นผู้พิชิตที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของอัสซีเรีย พระองค์ทรงยึดครองซามาเรีย(Samaria)ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรอิสราเอลได้ เซนนาเชริบ(Sennacherib) โอรสของกษัตริย์ซากอนที่ 2 ก็พิชิตบาบิโลเนีย ปาเลสไตย และอียิปต์ได้ กษัตริย์อัซซร์บานิปาล(Ashurbanipal)626-668 ก่อน คศ. เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอัสซีเรีย หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ราชอาณาจักรอัสซีเรียก็เริ่มทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว ต่อมา ไนน์เวห์(Nineveh)เมืองหลวงของอัสซีเรียก็ถูกชาวอารยันเมเดส(Aryan Medes)แห่งเปอร์เชียโจมตี แล้วอาณาจักรอัสซีเรียก็ถึงการล่มสลาย
ทางด้านอารยธรรมนั้น อัสซีเรียได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมของบาบิโลเนียเป็นอย่างมาก แต่อารยธรรมอัสซีเรียเองก็กลายเป็นต้นตอของอารยธรรมของประเทศอื่นๆต่อไปอีก อารยธรรมอัสซีเรียได้แผ่ขยายไปทั่วโลกซึ่งขณะนั้นนับได้ว่าเจริญแล้ว ในด้านปฏิมากรรม สถาปัตยกรรมและจิตรกรรมก็กล่าวได้ว่าอัสซีเรียเป็นผู้สร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำแบบใคร
กษัตริย์บางองค์ของอัสซีเรียได้ทรงอุปถัมภ์การศึกษาและวรรณกรรมเป็นอย่างดี กษัตริย์อัชชูร์บานิปาลก็ทรงเป็นนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ ได้ทรงสร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ที่บรรจุหนังสือที่หายากไว้จำนวนมากถือกันว่าเป็นหอสมุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและที่สำคัญที่สุดในโลกของเผ่าเซมิติค อาณาจักรอัสซีเรียกว้างใหญ่ไพศาลมาก่อนอาณาจักรโรมัน ชาวอัสซีเรียได้แบบอย่างทางวัฒนธรรมและอารยธรรมที่สำคัญๆของบาบิโลเนียมามากมาย และยังได้นำเอาระบบการบริหารประเทศแบบรวมอำนาจของพวกบาบิโลเนียมาใช้ด้วย ท้องถิ่นต่างๆถูกปกครองโดยเจ้าผู้ครองนครซึ่งขึ้นตรงต่อกษัตริย์ เนื่องจากพวกเขาสร้างถนนหนทางไว้มากมาย ฉะนั้นท้องถิ่นต่างๆทั่วราชอาณาจักรจึงมีการติดต่อสัมพันธ์กับเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี
ชาวฮิบรู
ในบรรดาชนเผ่าเซมิติคกลุ่มอื่นๆที่มีอำนาจอยู่ในซีเรียและปาเลสไตน์นั้น กลุ่มที่เด่นที่สุดก็คือชนชาวโฟนิเชียน(Phoenician) อราเมียน(Aramaen) และฮิบรูดั้งเดิม พวกฮิบรูเป็นเผ่าเร่ร่อนซึ่งเดินทางมาจากทะเลทรายอารเบียเพื่อแสวงหาผืนแผ่นดินที่อยู่อาศัย และในที่สุดก็มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ดินแดน คันนาน(Cannan) ซึ่งภายหลังเรียกว่า ปาเลสไตน์
พวกฮิบรูได้สร้างอาณาจักรของตนขึ้นภายใต้การนำของดาวูด(David) บุตรชายของเจสเส(Jessy)แห่งเผ่าจูดาห์(Judah)ในสมัยของกษัตริย์สุลัยมาน(โซโลมอน Solomon) โอรสของเดวิด(ปี961-962 ก่อน คศ.)นี้เองที่อาณาจักรฮิบรูเจริญขึ้นสูงสุด กษัตริย์สุลัยมานทำประโยชน์ให้แก่อาณาจักรหลายประการ พระองค์ทรงสร้างกรุงเยรูซาเล็ม อันเป็นเมืองหลวงให้งดงามด้วยอาคารบ้านเรือนอันสวยงาม ทรงอุปถัมภ์ศิลปการค้า และวิชาการต่างๆให้เจริญรุ่งเรือง แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง อาณาจักรฮิบรูก็แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ภาคเหนือเป็นอิสราเอล และภาคใต้เป็นจูดาห์ ชาวอัสซีเรียมาตีอาณาจักรอิสราเอลได้เมื่อปี 722 ก่อน คศ. และกษัตริย์เนบูชัดเนสซาร์แห่งคอลเดียนก็ตีอาณาจักรจูดาห์ได้
ชาวฮิบรูไม่ได้ทำอะไรไว้มากมายนักในด้านศิลปและวิทยาศาสตร์ แต่ได้ทำในด้านศาสนาไว้มาก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านนับถือเทพเจ้าหลายองค์อยู่นั้น ชาวฮิบรูเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว และได้สร้างแบบแผนด้านศิลธรรมอันสูงส่งขึ้นด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ใน "บัญญัติสิบประการ" ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานให้แก่โมเสส ศาสดาของพวกเขาบนภูเขาซีนาย
อาณาจักรไบแซนไตน์(Byzentine)
ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเกิดขึ้นนั้น อาณาจักรที่มีอำนาจปกครองดินแดนตะวันออกกลางหรือเอเซียตะวันตกอยู่คือ อาณาจักรไบแซนไตน์และอาณาจักรซัสซาเนีย
อาณาจักรโรมันตะวันออกเรียกว่า อาณาจักรไบแซนไตน์ประกอบด้วยซีเรีย ปาเลสไตน์ อียิปต์ และส่วนหนึ่งของยุโรป ไบแซนติอุม เป็นเมืองของชนชาวกรีก ตั้งอยู่บนช่วงแคบบอสฟอรัส(Bosporus) ไบแซนไตน์ได้ชื่อมาจากเมืองนี้และได้กลายเป็นเมืองหลวงของอาณาจักโรมันตะวันออกในปี คศ. 327 แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น คอนสแตนติโนเปิล ตามชื่อของกษัตริย์คอนสแตนตีนมหาราช ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรไบแซนไตน์เริ่มต้นตั้งแต่รัชสมัยของกษัตริย์คอนสแตนตีนนี้เอง ไบแซนไตน์มีกษัตริย์สืบราชวงศ์ต่อมาอีกกว่าเจ็ดสิบองค์ และได้ล่มสลายลงในปี คศ.1204
ศาสนาคริสเตียนเป็นศาสนาหนึ่งในบรรดาศาสนาที่สำคัญของโลก ศาสดาของศาสนานี้คือเยซูแห่งนาซาเรธ เมื่ออายุสามสิบปี พระเยซูได้ปรากฏตัวขึ้นที่ชุมชนในเมืองแนติออช(Antioch)ในซีเรีย ในรัชสมัยของกษัตริย์ทิเบอริอุส และได้ถูกตรึงไม้กางเขนที่นั่น นักบุญปอล(Paul)ได้นำเอาคำสั่งสอนของท่านไปเผยแพร่เป็นครั้งแรก ต่อมาศาสนาคริสต์จึงได้แพร่ขยายจากตะวันออกกลางไปสู่กรีซและโรม ถึงแม้จะถูกขัดขวางจากกษัตริย์บางองค์อย่างเช่นจักรพรรดิ์เนโร และดิโอคลีเตียน แต่ศาสนาคริสต์ก็ยังเป็นที่ดึงดูดความสนใจของชาวเมือง เมื่อกษัตริย์คอนสแตนตีนขึ้นครองราชย์ ศาสนาคริสต์ก็เจริญรุ่งเรืองในกรุงโรม ต่อมาพระองค์ได้ทรงประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำรัฐ
กษัตริย์ธีโอดอซิอุสที่ 1 (คศ.379-395)ได้ประกาศให้ศาสนาคริสเตียนเป็นศาสนาทางการของอาณาจักรไบแซนไตน์ กษัตริย์จัสติเนียนที่ 1ได้ทรงสร้างมหาวิทยาลัยและบูรณะโบสถ์เซ็นโซเฟียซึ่งกษัตริย์คอนสแตนตีนเป็นผู้สร้างไว้และทรงรวบรวมจัดพิมพ์"เนื้อหาของกฏหมายโรมัน"ขึ้นซึ่งได้รวมความรู้เรื่องกฏหมายของโรมันโบราณไว้ทั้งหมด นับเป็นมรดกที่มีค่าที่สุดที่ชาวโรมันได้ให้ไว้เป็นสมบัติแก่โลก
กษัคริย์ฮีราคีอุส(Heraclius 610-641) เป็นจักรพรรดิ์ที่ชาญฉลาดอีกองค์หนึ่งของโรมัน ได้รับขนานนามว่าผู้สร้างไบแซนไตน์สมัยกลาง พระองค์ได้รับเอาภาษากรีกมาเป็นภาษาประจำชาติของชาวโรมัน เมื่อขึ้นครองราชนั้น ทรงพบว่าอาณาจักรโรมันกำลังอยู่ในสภาพยุ่งยาก ถูกพวกสลาฟและซัสซาเนียเข้ารุกราน พระองค์ได้รบชนะพวกอิหร่านและปลดปล่อยซีเรียกับอียิปต์ให้เป็นอิสระจากการครอบครองของซัสซาเนีย อย่างไรก็ตามสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำเนื่องมาจากสงคราม ทำให้พระองค์ไม่อาจรักษาดินแดนทั้งสองนี้ให้รอดพ้นจากมือชาวมุสลิมได้
อาณาจักรซัสซาเนีย(Sassanai)
บางทีอาจจะมีชนเผ่าอารยันบางเผ่ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในที่ราบของอิหร่านตะวันตกก่อนปี 1500 ก่อน คศ. ผู้คนที่อพยพมาอยู่ทางตอนใต้ใกล้กับอ่าวเปอร์เชียมีชื่อว่าชาวเปอร์เชีย ส่วนพวกที่อยู่บริเวณเขตภูเขาทางตอนเหนือเรียกกันว่า ชาวเมต(Mead)
อาณาจักรคอลเดียนถูกชาวเมตและเปอร์เชียโค่นล้มลงในปี 539 ก่อนคศ. โดยกษัตริย์ไซรัส เมื่ออาณาจักรบาบิโลนสลายลงแล้วอำนาจก็เปลี่ยนจากมือชนเผ่าเซมิติคไปอยู่ในมือของเผ่าอารยันแคมบิเซส(Cambyses)
โอรสกษัตริย์ไซรัสได้ดินแดนของพวกอียิปต์มาครอบครองเพิ่มขึ้น แต่พอถึงรัชสมัยของเซอร์เซส(XerXes)ผู้เป็นโอรสของดาริอุส อำนาจของเปอร์เชียก็หมดไป ในปี 334 ก่อน คศ.อเล็กซานเดอร์มหาราชได้เข้ามารุกรานและพิชิตเปอร์เชียได้
อาณาจักรซัสซาเนียกลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ในปี คศ.226 เมื่ออาร์ดีชีร(Ardeshir)ทำการปฏิวัติแข็งข้อต่อรัฐบาลกรีก-ปราเทียน ได้เกิดการสู้รบกันขึ้นที่ที่ราบแห่งฮอร์มูซ การปฏิวัติครั้งนี้ทำให้เกิดราชวงค์ซัสซาเนียขึ้นมาปกครองเปอร์เชีย และได้ปกครองสืบต่อมาเป็นเวลา 4 ศตวรรษ อาร์ดีชีรเป็นนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ ได้ทรงจัดตั้งรัฐบาลแบบรวมอำนาจขึ้น ศาสนาโซโรแอสเตอร์ก็ได้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  อาณาจักรเปอร์เชียถูกชาวอาหรับโค่นลงในรัชสมัยของกษัตริย์ยัชดาเกิร์ดที่ 3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น