วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

อัล – มะฮ์ดี อัล – ฮาดี

( ฮศ. 159 – 69 , คศ. 775 – 85 )


            อัล มะฮ์ดีได้เป็นเคาะลีฟะห์สืบต่อจากพระราชบิดาใน ฮศ. 159 หรือ ค.ศ. 775 ทรงเป็นผู้มีอุปนิสัยใจคออ่อนโยนและเอื้อเฟื้อ ทรงเปิดฉากรัชสมัยของท่านด้วยการนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องขังทั้งหลาย นอกจากการอาชญากรร้าย ๆ เท่านั้น ทรงขยายและตกแต่งมัสยิดในเมืองมักกะฮ์ให้สวยงามรวมทั้งในเมืองสำคัญ ๆ อื่น ๆ อีกด้วย ทรงพัฒนาการไปรษณีย์ขึ้นอย่างมาก

            เมืองหลวงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายทั่วโลก ดนตรี กวี นิพนธ์ วรรณกรรม และปรัชญา เจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยนี้ เมื่อไปทำฮัจย์ที่มักกะห์ก็ทรงแจกจ่ายเสื้อผ้านุ่งห่มให้แก่ผู้ขลาดแคลนและทรงแจกเงินแก่พลเมืองในมักกะห์เป็นเงินก้อนใหญ่ ทรงจัดเงินช่วยเหลือประจำปีแก่คนขัดสน และสร้างถนนหนทางที่มีบ่อน้ำและถังเก็บน้ำเพื่อคนเดินทาง ทรงเลือกองครักษ์ของท่านจากเมืองมาดินะห์ และทรงพยายามที่จะลบลอยแผลที่พระราชบิดาทำไว้ ผู้คนก็ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีหนัก ๆ และเริ่มรู้สึกว่าตนมีความปลอดภัย นับว่านโยบายของท่านแตกต่างจากนโยบายของพระราชบิดา

 

การกบฎในคูราซาน

 

            ในคูราซาน ผู้คนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจเนื่องจากทางรัฐบาลไม่ได้ทำตามสัญญา ที่ได้ให้แก่พวกเขาไว้ในระหว่างที่ในสงครามกับราชวงศ์อุมัยยะห์แล้วเคาะลีฟะห์ท่านไหม่ คือมะห์ดี ก็มิได้ตอบสนองคำเรียกร้องของพวกเขา จึงได้เกิดการกบฎขึ้น โดยมียูซุฟบินรอฮีมเป็นหัวหน้า แต่กองทัพของเคาะลีฟะห์รบขนะเขาได้และจับตัวเขามาที่บัฆดาด เขาจึงถูกตรึงกางเขนตาย พร้อมผู้ร่วมคิดของเขาหลายคน ในปีต่อมาได้มีผู้คิดกบฎแก้แค้นเขาโดยคนในลัทธิมุกันนะห์ ( Mokanna ) หรือ ผู้คลุมหน้า ซึ่งได้ชื่อนี้ก็เพราะคนผู้นี้มักจะสวมหน้ากากอยู่เสมอ เมื่อปรากฎตัวในที่สาธารณะ คนผู้นี้ประกาศตัวเองว่าเป็นพระเจ้าอวตาน มาเที่ยวสั่งสอนผู้คนที่ว่าพระผู้เป็นเจ้า แบ่งภาคมาอยู่มาตัวอาดัมในตัวอบูมุสลิมและในตัวเขา มีสมัครพรรคพวกมากมายซึ่งนับถือเขาเป็นพระเจ้า แต่ในปี ฮศ. 163 หรือ คศ. 779 เขาก็ถูกฆ่าตาย และศรีษะของเขาถูกส่งไปให้มะห์ดี

 

การรุกราน ของชาวไบแซนไตน์

            ชาวโรมันได้มารุกรานเขตแดนมุสลิมเมื่อ ฮศ. 163 หรือ คศ. 779 พวกเขาได้ตีเมืองมารัช ( Marash ) ได้ มะห์ดีจึงส่งตัวฮะซันบินกอฮ์ตาบะฮ์ ( Hasan bin Kahtaba ) เป็นแม่ทัพไปตี และได้ชัยชนะชาวโรมันจนถึงเมืองอัชรุลียะห์ ( Adhruliya ) แต่แล้วพวกโรมันก็หวนกลับมาอีก มะห์ดีจึงต้องยกทัพไปเองพร้อมกับโอรสที่สองคือ ฮารูน
( Harun ) โดยทิ้งให้โอรสคนแรกคือ มูซา ( Musa ) ให้คอยดูแลบัฆดาดแทน ทรงยกทัพไปเมโสโปเตเมีย และซีเรียไปเข้าสู่ ซิสิเลีย ( Sicilia ) และไปตั้งทัพอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำญิฮาน
( Jihan ) ปิรามุส ( Pyramus ) ครั้งแล้วก็ทรงส่งกองทัพใหญ่ให้ฮารูนเป็นแม่ทัพไปฮารูนยึดได้ป้อมแห่งสะมาลู ( Samalu ) หลังจากล้อมไว้ 38 วัน ด้วยความสามารถนี้มะห์ดีจึงได้ทรงแต่งตั้งให้ ฮารูนเป็นผู้ปกครองดินแดนทั้งหมดทางภาคตะวันตกของราชอาณาจักรรวมทั้งอาเซอร์ไบยานและอาร์เมเนียด้วย ต่อมาอีกสองปีเกิดสงครามขึ้นระหว่าง กองทัพกรีกกับมุสลิม กองทัพกรีก 90,000 คน มีไมเคิล ( Michael ) เป็นแม่ทัพตรงเข้ามาสู่เอเซียไมเนอร์
            ฮารูนยกทัพไปตามฝั่งทะเลจนถึงช่องแคบบอสฟอรัส ( Bosphorus ) ฝ่ายกรีกขอสงบศึกโดยทำสัญญาพักรบเป็นเวลาสามปีและยอมจ่ายเงินราชบรรณาการให้แก่ฝ่ายมุสลิมปีละ 90,000 ดินาร์ ความสำเร็จอันงดงามนี้ทำให้มะห์ดีโปรดปรานฮารูนมากขึ้น จนทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้สืบต่อตำแหน่งมูซาและตั้งชื่อให้เขาว่า อัร รอชีด ( ผู้เดินตามทางที่ถูกต้อง ) ต่อมาอีกสามปีมะห์ดีก็ตัดสินใจที่จะให้ฮารูนเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งก่อนมูซาและเรียกตัวมูซาซึ่งกำลังทำการปราบกบฎกลับมา มูซาไม่ยอมทำตามความประสงค์ของพระราชบิดา มะห์ดีจึงตัดสินใจที่จะยกทัพไปปราบมูซาเอง แต่ก็สิ้นเสียกลางทางที่สถานที่แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า มาซันตาน ( Masantan )
            รัชสมัยของมะห์ดีเป็นเวลาที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ได้ทรงทำการสร้างราชอาณาจักรอย่างมากมาย การเกษตรและการค้าก็เจริญรุ่งเรือง รายได้ของแผ่นดินก็เพิ่มขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี อำนาจของรัฐเป็นที่ยอมรับกันแม้กระทั่งตะวันออกไกล จักรพรรดิ์ของจีน กษัตริย์ธิเบตและเจ้าชายของอินเดียหลายองค์ทำสนธิสัญญากับเคาะลีฟะห์ท่านทรงเป็นเอกในความศรัทธาที่เคร่งครัด ทรงปฏิเสธคำสั่งสอนที่เหลวไหล ของพวกสอนศาสนาอับบาซียะห์ สั่งสอนที่พระราชบิดาของท่านทรงนับถือ

อัล ฮาดี ( ฮศ. 169 – 70 , คศ. 785 – 86 )
            เมื่อมะห์ดีสิ้นชีพลงแล้ว ฮารูนก็ได้มอบคทาและตราตั้งผนึกพร้อม ด้วยสาสน์และแสดงความยินดีให้แก่มูซาพระเชษฐาที่เมืองญัรญุน ( Jurjin ) มูซาจึงรีบกลับมารับยศอัลฮาดีที่เมืองหลวง แต่ท่านไม่ทรงไว้วางใจในพระอนุชาของท่านเอง จึงวางแผนที่จะกีดกันเขาออกเสีย จากตำแหน่งเคาะลีฟะห์และต้องการที่จะแต่งตั้งโอรสของท่านคือ ญะฟัร ( Ja ’ Far ) ให้สืบตำแหน่งแทน ด้วยเหตุผลนี้จึงทรงจับตัวยะห์ยาบินคอลิด
( Yahya bin Khalid ) ที่ปรึกษาใหญ่ของฮารูนรวมทั้งบริวารหลายคนของฮารูนซึ่งทรงคิดว่าเป็นภัยต่อราชบัลลังก์เข้าคุกไป ดังนั้นราชสำนักแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งมีอัล ฮาดี เป็นหัวหน้า และอีกกลุ่มหนึ่งมีฮารูนเป็นหัวหน้า เมื่อการแก่งแย่งชิงดีถึงขั้นหนักหน่วงฮารูนก็ออกจากพระราชวังไปเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
            ผู้ปกครองมะห์ดีได้ปฏิบัติต่อสมาชิกบางคนของตระกูลของท่าน หุสัยน์อย่างรุนแรงด้วยข้อหาว่าดื่มสุราเมามายหุสัยน์ บิน อะลี บินฮะซัน ที่ 3 ( Husayn Ali bin Hasan lll ) จึงแข็งข้อขึ้นที่มะดีนะฮ์ โดยมีผู้สนับสนุนมากมาย แต่เขาถูกฆ่าตาย พร้อมด้วยพวกอะลีอีกหลายคน แต่ลุงของเขาคือ อิดริส บิน อับดุลลอฮ์ ( ldris bin Abdullah ) ซึ่งเป็นน้องชายของมุฮัมมัดและอิบรอฮีม ได้หนีไปอียิปต์ได้สำเร็จและผ่านไปยังแอฟริกาตะวันตกซึ่งเขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพวกเบอร์เบอร์และได้ตั้งราชวงศ์อิดรีซียะห์ขึ้นที่นั่น หลังจากครองราชย์ได้ไม่ถึงสองปี อัล ฮาดีก็สิ้นชีพ ในสมัยของท่าน อิทธิพลเปอร์เซียในราชอาณาจักรได้ขึ้นถึงขีดสูงสุด ได้รับเอางานฉลองปีไหม่ และประเพณีของเปอร์เซียอื่น ๆ ไว้เครื่องแต่งกายและหมวกแบบเปอร์เซียก็เริ่มมีผู้ใช้กันขึ้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น