วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

อาบูบักร

ชีวิตในตอนต้น
ท่านอบูบักร์เป็นคอลีฟะฮ์ระหว่างปี ฮ.ศ. 11-13 หรือ ค.ศ. 632-634 มีชื่อเต็มว่า อับดุลลอฮ์ บุตร อุสมาน ( อบูกุฮาฟะฮ์ ) บุตร อามิร บุตร อัมร์ บุตร กะอับ บุตร สะอัด บุตร ตัยม์ บุตร มุรเราะฮ์ มารดาของท่านมีชื่อว่า ซัลมา ท่านเป็นที่รู้จักในนาม อบูบักร์ อัศศิดดีก มีอายุอ่อนกว่าท่านนบี ( ศ็อลฯ ) สองปีเศษ อบูบักร เกิดที่มักกะฮ์ ปี ค . ศ .573 เป็นชาวอาหรับตระกูล บะนูตัยม์ เผ่ากุร็อยส์ ท่านเกิดในครอบครัวที่มีเกียรติเป็นที่นับหน้าถือตาในมักกะฮ์ ท่านเป็นคนที่มีจิตใจบริสุทธ์และจริงใจ ท่านศาสดามุฮัมมัดได้ให้สมญานามท่านว่า " อัซซิดดีก " ( ผู้ที่มีความเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจในการศรัทธา ) สาเหตุที่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อล) ได้ให้สมญานาม " อัซซิดดีก " เพราะอบูบักรเชื่อในคำพูดของท่านศาสดามุฮัมมัดโดยไม่มีความสงสัยใดๆ
ท่านอบูบักร์ เป็นคนสุภาพ เป็นคนซื่อสัตย์ และมีสัจจะ อบูบักร์ มีบุคลิกภาพคล้ายกับท่านศาสดามุฮัมมัด เนื่องจากว่าท่านนั้นเป็นสหายคนสนิทของท่านศาสดาตั้งแต่เยาว์วัย อบูบักร์ เป็นคนใจบุญ ท่านชอบช่วยเหลือคนจน ครั้งหนึ่ง ท่านอบูบักร์ได้นำเอาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่มากมายให้กับท่านศาสดาเพื่อใช้ในสงครามตะบูก ท่านศาสดาถามว่า " อบูบักร์ ท่านเหลือสิ่งใดไว้กับครอบครัวของท่านบ้าง " อบูบักร์ กล่าวว่า " ฉันเหลืออัลลอฮ์ และรอซูลของพระองค์ไว้กับพวกเขา "
ท่านอบูบักร์ เป็นชายคนแรกที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อท่านศาสดาเผยแพร่อิสลามแก่อบูบักร์ เขาตอบรับอิสลามทันที เมื่อท่านศรัทธาแล้วท่านก็เชิญชวนบุคคลเป็นจำนวนมากเข้ารับอิสลาม เช่น อุษมาน , สุเบ็ร , ฏ้อลฮะฮ์ , อับดุรเราะห์มาน , สะอัด , บิล้าล และผู้ศรัทธาอีกหลายคน ท่านอบูบักร์ มีความผูกพันกับท่านศาสดาอย่างใกล้ชิดท่านนั้นเป็นสหายคนสนิทของท่านศาสดาตั้งแต่เยาว์วัยและยังเป็นสหายของท่านศาสดาในขณะที่อพยพจากมักกะฮ์ไปมะดีนะฮ์ ท่านศาสดากล่าวว่า " ในบรรดาสหายที่ดีของข้าพเจ้านั้น อบูบักร์ เป็นผู้ประเสริฐสุด " อีกทั้งท่านยังเป็นพ่อตาของท่านศาสดา เนื่องจากลูกสาวของท่าน คือ ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เป็นภรรยาของศาสดา ท่านได้เข้าร่วมทำสงครามกับท่านศาสดาทุกครั้ง ท่านได้ซื้อทาสและปล่อยทาสให้เป็นอิสระเป็นจำนวนมาก ขณะที่ท่านศาสดาป่วย อบูบักร์ได้รับเกียรติให้เป็นผู้นำละหมาด ( อิหม่าม ) ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมในการเป็นผู้นำของท่าน อบูบักร์ เป็นผู้ใกล้ชิดต่อท่านศาสดา ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กับท่านศาสดาตั้งแต่เด็กจนกระทั้งท่านศาสดาเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้ อบูบักร์จึงเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ทางด้านซุนนะฮ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล) อย่างแท้จริง ชีวิตทั้งชีวิต ของท่านได้อุทิศให้กับการเสียสละและการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์
ได้รับเลือกเป็นเคาะลีฟะฮ์
ท่านศาสดามิได้แต่งตั้งให้ผู้ใดสืบตำแหน่งแทนท่าน หลังจากท่านสิ้นชีวิตแล้วโลกมุสลิมจึงตกอยู่ในความวุ่นวาย มุสลิมแบ่งออกเป็นสองค่ายคือ ค่ายอันศอร กับค่ายมุฮาญีรีน แต่ละฝ่ายพยายามที่จะให้คนของตนได้ตำแหน่งนั้น ความสามัคคีระหว่างชาวมุสลิมจึงเสื่อมสลายลง พวกอันศอรแห่งมะดีนะฮ์ได้มาชุมนุมกันเพื่อเลือกคนของตนขึ้นเป็นผู้ปกครอง พวกเขาตกลงกันว่าจะเลือก สะอ์ด บิน อุบัยดะฮ์ (Sad bin Ubayda) ซึ่งเป็นหัวหน้าของเผ่าค็อซร็อญจ์ (Khazraj) ในขณะนั้นอบูบักร์ อุมัรและอุบัยดะฮ์ ก็มาถึงพอดี อบูบักร์กล่าวว่าผู้จะมาเป็นเคาะลีฟะฮ์ควรจะมาจากเผ่ากุร็อยช์ ท่านได้ขอให้เลือกอุมัรหรือมิฉะนั้นก็อบูอุบัยดะฮ์ แต่ทั้งสองคนปฏิเสธ เมื่อเห็นท่าไม่ดีอุมัรจึงจับมืออบูบักร์และให้สัตย์ปฏิญาณต่อท่านว่า จะจงรักภักดีต่อท่าน ดังนั้นทุกคนจึงยกให้อบูบักร์เป็นเคาะลีฟะฮ์ต่อจากท่านศาสดา
การเลือกอบูบักรเป็นเคาะลีฟะฮ์นี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญในเรื่องการขึ้นเป็นหัวหน้าชาวมุสลิมในหมู่ชาวอาหรับ หัวหน้าเผ่ามิได้สืบเชื้อสายต่อๆกันมา แต่เป็นได้ด้วยการถูกเลือกตั้ง และการเลือกตั้งนั้นใช้หลักอาวุโสและความสามารถ หลังจากนั้นอบูบักร์ก็ได้ยืนขึ้นกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่ใช่คนที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน ข้าพเจ้าจึงต้องการคำแนะนำและความช่วยเหลือจากพวกท่าน การบอกความจริงแก่ผู้ที่รับภาระปกครองนั้นคือความจงรักภักดี ส่วนการปิดบังความจริงก็คือการกบฏ สำหรับสายตาของข้าพเจ้านั้น ผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่อ่อนแอย่อมเหมือนกัน และข้าพเจ้าต้องการที่จะให้ความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ในเมื่อข้าพเจ้าเชื่อฟังอัลลอฮ์และศาสดาของพระองค์ พวกท่านก็จงเชื่อฟังข้าพเจ้า ถ้าข้าพเจ้าละทิ้งกฏหมายแห่งอัลลอฮ์และท่านศาสดา ข้าพเจ้าก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการเชื่อฟังจากพวกท่าน"
คำกล่าวปราศรัยของท่านอบูบักร์นี้ บรรจุหลักการแห่งประชาธิปไตยไว้ คือชี้ให้เห็นว่าเคาะลีฟะฮ์ย่อมจะไม่เป็นผู้ที่เอาแต่ใจตนเอง เขาจะต้องปกครองประเทศไปตามกฏหมายชะรีอะฮ์(กฏหมายที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า)และต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะพึงมีแก่ประชาชนจากการกระทำของเขา
สมัยของท่านอบูบักร์
เมื่อได้เป็นเคาะลีฟะฮ์แล้วท่านอบูบักร์ก็ต้องผจญกับปัญหาหลายอย่าง เช่นการเกิดขึ้นของศาสดาเถื่อนทั่วภาคพื้นอารเบีย การถอนตัวออกจากอิสลามของชนเผ่าต่างๆในอารเบีย และการที่คนส่วนมากปฏิเสธอย่างแข็งขันไม่ยอมจ่ายซะกาต แต่งานชิ้นแรกของท่านอบูบักร์ก็คือการทำความประสงค์ของท่านศาสดาที่มีอยู่ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิตให้สำเร็จผล ท่านจึงได้ส่งอุซามะฮ์(Usamah)ให้เป็นแม่ทัพนำทัพไปตีซีเรีย ภายในเวลาสองสัปดาห์เท่านั้นอุซามะฮ์ก็กลับมาพร้อมด้วยชัยชนะ
ความสำเร็จในภารกิจของท่านศาสดาทำให้คนหลายคนเกิดความทะเยอทะยานขึ้น จึงได้เกิดศาสดาปลอมขึ้นในส่วนต่างๆของประเทศ ข่าวการสิ้นชีวิตของท่านศาสดาก็ทำให้ศาสดาเถื่อนเหล่านั้นลุกฮือขึ้น คนแรกที่แข็งข้อขึ้นที่แคว้นยะมันก็คือ อัสวัดอันซี(Aswad Ansi) หัวหน้าเผ่าอันซี เขารวบรวมผู้คนจำนวนมากโดยร่วมมือกับหัวหน้าเผ่าข้างเคียงยืนหยัดแข็งข้อต่ออิสลามอย่างเปิดเผย
มุซัยลิมะฮ์ (Musaylima) ฏุลัยฮะฮ์ (Tulayha)หัวหน้าผู้ร่ำรวยและนักรบผู้สามารถแห่งเผ่าบนูอะซัด ก็ยืนหยัดแข็งข้อต่ออิสลามขึ้นที่อารเบียเหนือ ซะญะฮ์(Sajah) หญิงชาวคริสเตียนก็ประกาศตัวเองเป็นศาสดาหญิงเหมือนกัน นางมาจากเผ่าบนูยัรบูอ์ ในเอเซียกลาง ฉะนั้นงานในตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ของท่านอบูบักร์จึงเกี่ยวข้องกับการปราบศาสดาปลอมเหล่านี้เสียเป็นส่วนมาก สาเหตุที่เกิดแข็งข้อขึ้นอย่างมากมายนี้ก็คือ การที่มะดีนะฮ์มีอำนาจขึ้นมานั้นไม่เป็นที่พอใจของชาวเมืองมักกะฮ์ ซึ่งไม่ต้องการให้เมืองพี่เมืองน้องของตนมีอำนาจมากกว่า เมื่อท่านศาสดายังมีชีวิตอยู่คนเหล่านี้ก็ไม่กล้าต่อต้านท่าน แต่เมื่อศาสดาสิ้นชีวิตไปแล้วพวกเขาก็เห็นโอกาสที่จะโค่นล้มอิทธิพลของมะดีนะฮ์เสีย เหตุผลประการที่สองก็คือ ชนเผ่าต่างๆของอารเบีย มักจะเชื่อฟังคำสั่งของหัวหน้าของตนอย่างเข้มงวด เมื่อหัวหน้าเผ่าเข้ารับอิสลามพวกเขาก็เข้ารับอิสลามตามบ้าง แต่มาเมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกในด้านประชาธิปไตยของพวกเขาก็สูงมากขึ้น ทุกคนในเผ่าต่างก็ปฏิเสธไม่ยอมทำตามหัวหน้าของตนอย่างหลงไหลเหมือนแต่ก่อน เหตุผลประการที่สามก็คือ ท่านศาสดาได้นำเอาความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมาสู่สังคม การเมืองและศาสนาของอารเบีย ชนเผ่าต่างๆของอารเบียไม่คุ้นกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น พวกเขาจึงประท้วงต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยการลุกขึ้นแข็งข้ออย่างเปิดเผย
ประการที่สี่ ชาวอาหรับจำนวนมากคิดว่าการเป็นศาสดาเป็นการได้ประโยชน์สุขส่วนตัวเป็นอย่างมาก จึงคิดว่าตนเองก็น่าจะได้บ้าง พวกหัวหน้าเหล่านี้จึงได้ให้สัญญาหลอกๆแก่ประชาชนและคนเหล่านั้นให้ลุกขึ้นต่อต้านมุสลิม
ประการที่ห้า เมื่อตอนที่ท่านศาสดาสิ้นชีวิตไปนั้น ประชาชนเพิ่งจะเข้ารับอิสลามใหม่ๆ คนที่ไม่มีเวลาและโอกาสที่จะศึกษาให้เข้าถึงแก่นของอิสลามได้มากนัก ก็ไม่รู้คุณค่าที่แท้จริงของอิสลาม ดังนั้นจึงกลับไปหาความเชื่อเดิมของตนได้ง่ายและหันมาทำลายล้างอิสลาม ประการสุดกท้ายก็คือกฏเกณฑ์ที่เข็มงวดของอิสลามทำให้คนไม่พอใจ รวมทั้งความไม่เต็มใจที่จะเสียภาษีซะกาตของชาวอาหรับ ทำให้คนบางคนลุกขึ้นมาต่อต้านอิสลาม
อบูบักร์ได้รวบรวมกำลังทัพของมะดีนะฮ์เข้าด้วยกัน และแบ่งออกเป็นกองทัพย่อยสิบเอ็ดกอง มอบให้แม่ทัพผู้มีความสามารถควบคุมทัพละคน และส่งไปยังส่วนต่างๆสิบเอ็ดส่วนของอารเบีย โดยแนะนำให้แม่ทัพเหล่านั้นเชิญเผ่าที่แข็งข้อต่อต้านมุสลิมมาเจรจาโดยดีก่อน ถ้าพวกเขาไม่มีไมตรีด้วยจึงให้ใช้กำลังเข้าโจมตี ซึ่งบางเผ่าก็ยอมจำนนต่ออิสลามแต่โดยดี แต่บางเผ่าก็ยังดื้อดึงจึงต้องทำสงครามกับพวกเขา
ครั้งแรก คอลิดบินวะลิดเป็นแม่ทัพนำไปตีแคว้นของฏุลัยฮะฮ์ก่อน ได้ชัยชนะในการต่อสู้ที่บุซากา หลังจากนั้นเผ่าที่แข็งข้อหลายเผ่าก็ได้ยอมจำนนต่ออิสลาม และในที่สุดฏุลัยฮะฮ์และนางสะญะฮ์ก็ได้เข้ารับอิสลาม
มุซัยลิมะฮ์เป็นกบฏที่เข้มแข็งที่สุดในบรรดาศาสดาปลอม ท่านอบูบักร์ได้ส่งอิคริมะฮ์ กับซุเราะห์บิล ไปตีก่อนแต่เอาชนะไม่ได้ ท่านจึงส่งคอลิด บินวะลิดไปอีก จึงเอาชนะได้ในการสู้รบที่ใกล้เมือง ยามามะฮ์ ในปีฮศ. 633 มุซัยลิมะฮ์สิ้นชีวิตใน "สวนมรณะ" ที่เขาพร้อมด้วยทหารเผ่าบนูหะนะฟะฮ์หลายพันคนหนีเข้าไปหลบซ่อนอยู่เพราะสวนนั้นพังทลายลงมาทับ
เมื่อปราบศาสดาเถื่อนได้หมดแล้ว อิสลามก็ผนึกกำลังเข้าได้อีกและก้าวหน้าต่อไป ชัยชนะของมุสลิมในการต่อสู้เหล่านี้ทำให้พวกเขามีความหวังและมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับพวกไบแซนไตน์และซัสซาเนีย วิธีการทำสงครามและกำลังทหารที่ใช้ในการปราบปรามผู้ต่อต้านเหล่านี้ ได้ถูกนำไปใช้ในการต่อสู้กับพวกไบแซนไตน์และซัสซาเนียอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อท่านศาสดาสิ้นชีวิตลง ประชาชนก็ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายภาษีซะกาต เมื่อตอนเอาระบบภาษีนี้มาใช้ใหม่นั้น บางคนก็เจ็บใจเพราะรู้สึกว่าถูกล่วงละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคลของเขา เมื่อมีการระส่ำระสายขึ้นทั่วอารเบีย คนเหล่านี้ก็ได้โอกาสไม่เสียภาษีอีก ท่านอบูบักร์เข้มงวดในเรื่องนี้มาก และพยายามที่จะปราบพวกที่แข็งข้อในเรื่องนี้ให้ได้ อะลี ซุบัยร์ และฏอลฮะฮ์ ถูกส่งไปปราบพวกนี้ คนเหล่านั้นสู้ไม่ได้ก็หนีไป ต่อจากนั้นจึงได้รับภาษีซะกาตทั้งจากในแคว้นและแคว้นอื่นๆดังเดิม
เมื่อปราบกบฏกลุ่มต่างๆเรียบร้อยแล้ว คอลิด บินวะลิดก็พร้อมที่จะทำสงครามนอกประเทศ หลังจากท่านศาสดาสิ้นชีวิตได้ไม่นาน มุนซิร ผู้ปกครองแคว้นบาฮ์เรนก็สิ้นชีวิตลง และได้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในแคว้นนั้น มีการทะเลาะวิวาทกันระหว่างเผ่าบนูอะบุลกัยส์ กับเผ่าบนูบักร์ ฝ่ายแรกมาขอความช่วยเหลือจากมุสลิม และฝ่ายหลังหันไปขอความช่วยเหลือจากเปอร์เชีย ฝ่ายมุสลิมจึงต่อสู้กับเปอร์เชียและเปอร์เชียได้พ่ายแพ้ไป จึงเป็นอันปราบกบฏได้ราบคาบในที่สุด
นอกจากนั้ยังมีกบฏที่อัมมาน มะฮ์รอ และหะเฏาะเราะเมาต์ แต่ในไม่ช้าฝ่ายกบฏก็พ่ายแพ้แก่มุสลิม เมื่อเหตุการณ์ในประเทศเรียบร้อยแล้ว อบูบักร์ก็หันความสนใจไปยังเปอร์เชียและซีเรีย เมื่อครั้งที่บาห์เรนก่อการกบฏ พวกเปอร์เชียได้เข้ามาช่วยฝ่ายกบฏ ฉะนั้นจึงไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายมุสลิม การปฏิบัติอันเป็นการมุ่งร้ายของเปอร์เชียดังกล่าวนี้ ทำให้อบูบักร์ส่ง คอลิด บินวะลิดนำทหารจำนวน 10,000 คน ไปยังเขตแดนของเปอร์เชียในปี คศ.633 เมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว คอลิดได้ส่งสาส์นถึงฮุรมูซ แม่ทัพเปอร์เชียให้ยอมรับอิสลามหรือมิฉะนั้นก็ยอมเสียบรรณาการแก่อารเบียหรือมิฉะนั้นก็เตรียมตัวทำสงครามกัน ฮุรมูซรับข้อเสนอข้อที่สาม การสู้รบระหว่างฝ่ายเปอร์เชียกับฝ่ายมุสลิมเกิดขึ้นที่สถานที่ที่เรียกว่า ฮาฟิร การสู้รบครั้งนี้รู้จักกันในนามว่า "สงครามโซ่" เพราะทหารฝ่ายเปอร์เชียเอาโซ่ล่ามตัวเข้าด้วยกัน เปอร์เชียเป็นฝ่ายปราชัย หลังจากนี้ก็มีการรบกันอีกอย่างประปราย ในที่สุดกำลังทหารฝ่ายเปอร์เชียได้ถูกขับไล่ถอยร่นไปถึงเมโสโปเตเมีย
เมืองฮิรออ์ถูกล้อมและรัฐบาลคริสเตียนที่นั่นได้ยอมแพ้และยอมทำสนธิสัญญากับมุสลิม โดยยินยอมที่จะส่งบรรณาการให้แก่อารเบีย บรรณาการที่เรียกจากชาวคริสเตียนแห่งฮิรออ์นี้เรียกว่า ญิซยะฮ์ (Jizya) หลังจากพิชิตฮิรออ์ได้แล้ว คอลิดก็เดินทัพต่อไปทางเหนือจนถึงอันบัร(Anbar) อันเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส ฝ่ายมุสลิมพิชิตอันบัร และอัยน์ อัตตามัร ซึ่งอยู่ใกล้เคียงอันบัรได้
ในระหว่างสมัยของท่านศาสดา จักรพรรดิ์โรมันที่ชื่อ ฮีราคลิอุสได้ต้อนรับทูตมุสลิมอย่างให้เกียรติยิ่ง แต่ต่อมาภายหลังพระองค์ได้กลายเป็นศัตรูของอิสลาม เมื่อท่านอบูบักร์ได้ทราบว่าจักรพรรดิ์โรมันเริ่มคบคิดกับพวกเบดูอินทางชายเขตแดนซีเรียเพื่อต่อต้านท่าน และนอกจากนี้หัวหน้าเผ่าคริสเตียนคนหนึ่งซึ่งชื่อ ชุเราะห์บิล ก็ได้ฆ่าผู้สื่อสาส์นของท่านศาสดาตายที่มูดาฮ์ อันเป็นการละเมิดกฏสันติภาพนานาชาติอีกด้วย เพื่อแก้แค้นที่ทูตอิสลามถูกฆ่า ท่านอบูบักร์จึงคิดจะบุกซีเรีย
ท่านอบูบักร์ได้ส่งคอลิด บินวะลิดให้นำทหารจำนวน 40,000 คน ไปยังชายแดนซีเรียโดยสั่งคอลิดไม่ให้โจมตีก่อนแต่ให้คอยต้านทานเมื่อฝ่ายซีเรียบุกเข้ามา กองทัพทั้งสองฝ่ายพบกันที่ อัจนาดาน และมุสลิมเป็นฝ่ายมีชัย ฮีราคลิอุสหลบหนีไปยังเมือง อันติออช แม่ทัพฝ่ายมุสลิมก็เดินทัพต่อไปยังดามัสกัสและล้อมเมืองนั้นไว้
ข่าวชัยชนะที่อัจนาดานมาถึงมะดีนะฮ์ในขณะที่ท่านอบูบักร์กำลังนอนป่วยอยู่ ท่านได้หารือมุสลิมคนสำคัญๆในเรื่องเคาะลีฟะฮ์ท่านต่อไป ทุกคนต่างก็สนับสนุน อุมัร ท่านอบูบักร์สิ้นชีวิตลงเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม คศ.634
ผลงานของอบูบักร์
อบูบักร์ขึ้นทำหน้าที่เคาะลีฟะฮ์ในขณะที่ประวัติศาสตร์อิสลามกำลังอยู่ในระยะหน้าสิ่วหน้าขวาน มีการแตกแยกระหว่างชาวมุสลิม การเกิดขึ้นของศาสดาปลอมและการกบฏที่เกิดขึ้นทั่วทุกหนแห่ง แต่ท่านก็ได้นำความสามัคคีมาสู่ชาวมุสลิมได้ดังเดิม บดขยี้อำนาจของศาสดาปลอม ปราบกบฏในประเทศและขับไล่ผู้รุกรานจากต่างประเทศไปได้ ท่านจึงเป็นผู้สร้างรากฐานอันมั่นคงให้แก่อิสลาม จนอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ช่วยให้อิสลามมีชีวิตรอดอยู่ได้ด้วยวิจารณญานอันสงบสุขุมของท่าน และความเฉลียวฉลาดรวมทั้งจิตใจอันอ่อนโยนมีเมตตาของท่านเป็นประโยชน์ต่อการรับใช้ศาสนาอิสลามเป็นอย่างยิ่ง
พลังอำนาจของท่านได้มาจากความศรัทธาในตัวท่านศาสดานั่นเอง ท่านกล่าวว่า "อย่าเรียกข้าพเจ้าว่าเคาะลีฟะฮ์แห่งพระผู้เป็นเจ้าเลย แต่จงเรียกว่าเคาะลีฟะฮ์แห่งท่านศาสดาเถิด" ท่านเป็นคนแรกที่พยายามรวบรวมโองการต่างๆของอัลกุรอานเข้าด้วยกัน ท่านเป็นผู้เสียสละเงินทองเพื่อประโยชน์ของชาติ ท่านมีเมตตาปราณีอย่างยิ่งต่อคนยากจนขัดสน ท่านต้องเดินท่อมๆไปในเวลากลางคืนเพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ท่านอุทิศแรงงานเพื่อบริหารรัฐที่เกิดใหม่นี้ และเพื่อประโยชน์ของประชาชน ความไว้วางใจของท่านในหลักการของอิสลามและชีวิตอันเรียบง่ายของท่านเป็นลักษณะของท่าน ท่านเป็นคนขยันขันแข็ง ฉลาดสุขุม มีไหวพริบและยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น