วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

อารเบียก่อนการเกิดอิสลาม

ดินแดนอารเบีย
อารเบียอันเป็นถิ่นกำเนิดของอิสลามนั้นเป็นแหลมอันกว้างใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย เป็นแหลมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นดินแดนที่แห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมีเนื้อที่ 120,000 ตารางไมล์ ดินแดนอารเบียเป็นจุดต่อระหว่างทวีปทั้งสามคือ เอเชียยุโรปและแอฟริกา ฉะนั้นอารเบียจึงเป็นศูนย์กลางของโลกสมัยโบราณซึ่งเป็นที่ยังไม่มีการค้นพบทวีปอเมริกาและออสเตรเลีย ทางด้านเหนือของอารเบียคือทะเลทรายซีเรีย ทางใต้คือ มหาสมุทรอินเดีย ทางทิศตะวันออกคืออ่าวเปอร์เซีย และทางทิศตะวันตกคือ ทะเลแดง ด้วยเหตุที่ดินแดนนี้มีน้ำล้อมรอบอยู่ถึงสามด้านนั่นเอง ชาวอาหรับจึงเรียกกันว่าเกาะอารเบีย
ดินแดนอารเบียอันกว้างใหญ่นี้แบ่งออกเป็นหลายมณฑล มณฑลที่มีความสำคัญในประวัติ ศาสตร์ของอิสลามก็คือ หิยาซ (Hijaz) นัจญ์ต์ (Najd) ยะมัน (Yaman) หะเฎาะเราะเมาต์ (Hadramawt) และโอมาน (Oman) เมืองที่สำคัญของแคว้นหิยาซมี 3 เมือง คือ เมืองมักกะฮ์ (Makkah) มะดีนะฮ์ (Madinah) และฎออีฟ (Taif) พื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของประเทศเป็นทะเลทราย พื้นที่ทางภาคเหนือเป็นทะเลทรายที่กว้างใหญ่ พื้นที่ทางภาคใต้ของแหลมอารเบียเป็นที่ตั้งของแคว้นยะมันหะเฎาะเราะเมาต์ และโอมาน แคว้นเหล่านี้เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการเกษตร และการค้า นับได้ว่าเป็นส่วนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของอารเบีย
แหลมอารเบียนั้นเป็นดินแดนที่แห้งแล้งมาก เมืองที่ตั้งอยู่แถบฝั่งทะเลและหุบเขาเท่านั้นที่มีน้ำ ด้วยเหตุที่เป็นดินแดนอันร้อนระอุนี้เองผู้คนพลเมืองจะเป็นคนแข็งแกร่งและบึกบึน แม้ว่าอารเบียจะมีน้ำล้อมรอบถึงสามด้านแต่ก็ไม่มีแม่น้ำสายสำคัญเลย เพราะมีฝนตกน้อย แต่สำหรับที่ที่มีน้ำก็จะเป็นแผ่นดินอุดมเหมาะสำหรับการปลูกกาแฟ คราม อินทผลัม ผัก และผลไม้ต่างๆ อินทผลัมเป็นต้นไม้ที่สำคัญของอารเบีย ผลของอินทผลัมใช้เป็นอาหารของคน เมล็ดใช้บดเป็นอาหารของอูฐ น้ำที่คั้นจากผลเมื่อหมักเข้าก็กลายเป็นเครื่องดื่มชั้นดีของชาวเบดูอิน ลำต้นของอินทผลัมใช้เป็นเชื้อ เพลิง กิ่งก้านใช้สำหรับทำเสื้อผ้าและมุงหลังคาบ้านเรือน เยื่อเหนียวๆ ที่เปลือกก็ใช้ทำเชือกได้ ดินแดนแถบฝั่งทะเลเป็นทำเลที่ผลิตผลไม้และพืชผักต่างๆ ได้มาก
ยะมันเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในแหลมอารเบียสามารถผลิตข้าวสาลีและกาแฟได้มากสามารถทำการเกษตรได้ดี เพราะมีฝนตก บางส่วนของโอมานก็สามารถผลิตข้าวฟ่างและข้าวเจ้าได้ ส่วนในแคว้นหะเฎาะเราะเมาต์และมะฮรอ (Mahra) นั้น มีผลผลิตที่สำคัญคือ กำยาน
สัตว์เลี้ยงที่สำคัญของอารเบียคืออูฐ ม้า แกะ และแพะ อูฐนับว่าเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ที่สุดในอารเบียจนอาจกล่าวได้ว่าถ้าไม่มีอูฐเสียแล้วชีวิตของชาวอารเบียก็คงจะลำบากมากทีเดียว
อูฐนอกจากจะใช้เป็นพาหนะในทะเลทรายแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนที่สำคัญอีกด้วย อูฐเป็นเพื่อนที่ดีของชาวอาหรับและเบดูอิน พวกเขาดื่มนมอูฐแทนน้ำเพราะต้องเก็บน้ำไว้ให้วัวควายกิน เนื้อมันเป็นอาหารใช้หนังของมันเป็นเครื่องนุ่งห่ม ขนของมันใช้ทำกระโจมและมูลของมันก็ใช้ทำเชื้อเพลิงได้
ประชากรในแหลมอารเบีย
พลเมืองของแหลมอารเบียแบ่งออกเป็นสองพวกคือ พวกที่อาศัยอยู่ในเมืองกับพวกที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายหรือชาวเบดูอิน (Beduin) พวกที่อาศัยอยู่ในเมืองตั้งหลักแหล่งอยู่กับที่ทำธุรกิจติดต่อทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ พวกนี้เป็นคนที่มีวัฒนธรรมและละเอียดอ่อนกว่าพวกเบดูอินซึ่งไม่ชอบชีวิตที่อยู่กับที่ ส่วนพวกเบดูอินชอบเร่ร่อนไปเรื่อยๆ เมื่อไปถึงที่เหมาะๆ ก็จะตั้งกระโจมพักอยู่ชั่วคราวอาชีพของพวกเขาคือการเลี้ยงสัตว์และปล้นสดมภ์ พวกนี้ไม่รู้จักทำการเกษตรและค้าขายหรือการฝีมือ การสู้รบและปล้นสะดมเป็นเรื่องธรรมดาของชาวเบดูอิน ถ้าไม่มีศัตรูที่จะต่อสู้ด้วยพวกเขาก็ต่อสู้กันเอง ชาวเบดูอินไม่มีความจงรักภักดีต่อประเทศหรือดินแดน แต่พวกเขาจะจงรักภักดีต่อเผ่าของตนอย่างเข้มงวด การถือเผ่านี้เป็นลักษณะสำคัญของชีวิตทางสังคมของพวกเบดูอินระบบเผ่านี้เองที่เป็นสาเหตุให้มีการต่อสู้กันระหว่างชาวอาหรับด้วยกันอย่างเนืองๆ ในสมัยก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเกิดขึ้น
คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ว่า ลักษณะภูมิประเทศของแหลมอารเบียนั้นได้มีอิทธิพลต่อจิต ใจของพลเมืองอย่างสำคัญทีเดียว พื้นที่ทะเลทรายนั้นในด้านหนึ่งก็เท่ากับช่วยปกป้องชาวอาหรับให้รอดพ้นจากการรุกรานของคนต่างชาติ และอีกด้านหนึ่งก็ช่วยสอนพวกเขาให้รู้จักเดินทางไปค้าขายในแดนไกล เพราะชาวอาหรับต้องต่อสู้กับชีวิตอันยากลำบากอยู่ในทะเลทรายตลอดเวลา พวกเขาจึงกลายเป็นคนขยันขันแข็งและอดทน
นอกจากนี้ชีวิตอันเวิ้งว้างอยู่ในทะเลทรายนั้นได้ทำให้พวกเขาเป็นคนรักอิสรภาพ และมีความเป็นตัวของตัวเองอีกด้วย ไม่ชอบอยู่ใต้บังคับของคนอื่นด้วยคุณสมบัติเหล่านี้เอง หลังจากที่รับศาสนาอิสลามแล้วชาวอาหรับจึงสามารถสร้างอาณาจักรอันกว้างใหญ่ และอารยธรรมใหม่ขึ้นได้ในประวัติศาสตร์ของโลก
สภาพของอารเบียเมื่ออิสลามมาถึง
ยุคก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเกิดขึ้นนั้นชาวอาหรับเรียกกันว่า ญาฮิลียะฮ์ (Jahiliyah) หรือ "ยุคสมัยแห่งความโง่เขลา" เพราะเป็นยุคที่สภาพทางสังคมการเมือง และศาสนาตกอยู่ในภาวะเลวร้ายเป็นยุคที่ไม่มีศาสนาที่ชัดเจน ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีระบบการปกครอง หรือความคิดทางด้านศีลธรรมอยู่เลย ชีวิตทางด้านศาสนาและการเมืองยังอยู่ในระดับป่าเถื่อนมาก
ด้านการเมืองในระหว่างยุคแห่งความโง่เขลานี้ อารเบียเป็นประเทศอิสระเสรี มีบางส่วนทางภาคเหนือเท่านั้นที่อยู่ภายใต้ความครอบครองของอาณาจักรเปอร์เซีย และโรมัน ชาวอาหรับแบ่งแยกออกเป็นหลายเผ่าแต่ละเผ่าก็มีหัวหน้าเผ่าปกครอง ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่าชัยค์ (Sheikh) สมาชิกของเผ่านั้นๆ จะให้ความจงรักภักดีต่อหัวหน้าเผ่าของเขาอย่างแน่นแฟ้น คนที่อยู่ในเผ่าเดียวกันจะเป็นมิตรกันอย่างดียิ่ง แต่ถ้าเป็นคนต่างเผ่ากันก็จะตั้งหน้าเป็นศัตรูกันอย่างไม่ลดละเช่นเดียวกัน ชาวอาหรับมีความจงรักภักดีต่อเผ่าของตนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่มีศูนย์กลางของการปกครองเผ่าต่างๆ จึงขัดแย้งต่อสู้กันอยู่เสมอ ซึ่งบางทีก็เนื่องมาจากสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น และสงครามระหว่างเผ่านั้น บางทีกินเวลาเป็นหลายๆปีก็มี สรุปว่าทางด้านการเมืองอารเบียก่อนการเกิดขึ้นของศาสนาอิสลามนั้นถูกฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยโดยเผ่าต่างๆ ซึ่งไม่ลงรอยกันเองบ้าง โดยการรุกรานของรัฐใกล้เคียงกันบ้าง และโดยการปล้นสดมภ์ของนักล่าเมืองขึ้นชาวยิวบ้าง
ทางด้านเศรษฐกิจดินแดนอารเบียนั้นแห้งแล้งแทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีผลผลิตทางการเกษตร หรือเหมืองแร่เลย ดังนั้นประชาชนพลเมืองโดยทั่วไปจึงยากจน ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ พวกคนชั้นสูงเท่านั้นจึงจะมีธุรกิจภายในประเทศหรือนอกประเทศ แต่คนเหล่านี้มีจำนวนน้อย ส่วนการให้กู้ยืมเงินซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงนั้นก็มีอยู่เฉพาะในหมู่ชาวยิว
ทางด้านวัฒนธรรม แม้ว่าในสมัยนั้นจะยังไม่มีระบบการศึกษาเหมือนในปัจจุบัน แต่ชาวอาหรับสมัยนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นคนไร้วัฒนธรรม พวกเขามีชื่อเสียงในด้านภาษาและกวีนิพนธ์ ภาษาของชาวอาหรับสมัยก่อนอิสลามนั้นมีอิทธิพลมากเช่นเดียวกันกับภาษาของชาวยุโรปในปัจจุบันนี้ และความสมบูรณ์ของภาษาอาหรับนั่นเองได้เป็นสิ่งหนึ่งที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดขึ้นของศาสนาอิสลาม
งานด้านวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งของพวกอาหรับก็คือ กวีนิพนธ์ เรื่องราวที่กล่าวถึงในบทเพลงและบทกวีพวกเขาก็คือ เรื่องของเผ่า การสงคราม ความกล้าหาญของวีรบุรุษของพวกเขา หญิงงามและความรักในสมัยโน้น บทกวีไม่ใช่ของฟุ่มเฟือยสำหรับกลุ่มชนจำนวนน้อยที่มีวัฒนธรรมแต่เป็นสื่อกลางของเครื่องมือ สำหรับการแสดงออกทางด้านภาษา บทกวีในสมัยก่อนอิสลามเกิดนั้นนับได้ว่าเป็นแหล่งที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของยุคนั้น แหล่งหนึ่งทางด้านศาสนาชาวอาหรับเป็นพวกบูชารูปเคารพเช่นเดียวกับชาวยิวและคริสเตียน แต่ศาสนาของชาวยิวและคริสเตียนยังอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแกร่ง ไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางวัตถุ และทางจิตวิญญาณของชาวอาหรับทั้งปวงได้ นอกจากบูชารูปเคารพแล้วพวกเขายังบูชาธรรมชาติ เช่นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวและนภากาศ แม้กระทั่งก้อนหิน ต้นไม้ และเนินทราย มีประชาชนบางส่วนในเมืองมะดีนะฮ์เท่านั้นที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว แต่ก็ยังไม่แจ่มแจ้งนักทุกเมืองจะมีเทพเจ้า และเจ้าแม่ประจำเมือง เทพเจ้าชืออัลอุซซา (Al – Uzza) อัลลาด (Al – lat) มานะฮ์ (Manah) และฮุบัล (Hubal) เป็นที่นับถืออย่างสูงของชาวอาหรับในอารเบีย มีวิหารสำหรับเทพเจ้า และเจ้าแม่อยู่มากมาย กะอ์บะฮ์ถูกถือว่าเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในกะอ์บะฮ์นั้นมีรูปเคารพอยู่ถึง 360 รูป ทุกๆปีผู้คนจากส่วนต่างๆ ของประเทศจะเดินทางมาสักการะเทพเจ้าของเขา ณ สถานที่นี้ ในระหว่างนั้นก็จะมีงานออกร้านเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ เรียกว่า "งานอุกาซ"
ทางด้านสังคมและศีลธรรมในยุคแห่งความมืดบอดนี้ ชาวอาหรับเป็นคนที่มีความกล้าหาญ มีความเชื่อถืออันแน่นแฟ้น มีความทรงจำอันดีเลิศ มีความนับถือตนเอง รักความเป็นอิสระและภักดีต่อเผ่าของตนและหัวหน้าเผ่า มีความเป็นอยู่เรียบๆ ง่ายๆ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีอัธยาศัยไมตรีและรักบทกวี แต่น่าเสียดายที่คุณสมบัติอันดีเด่นเหล่านี้ถูกนิสัยชั่วร้ายทั้งหลายปกปิดไว้เสียหมด ผู้หญิงตกอยู่ในสังคมที่ต่ำกว่าผู้หญิงในที่อื่นๆ ในยุคเดียวกัน ชาวอาหรับสมัยนั้นถือว่าผู้หญิงเป็นเสมือนทรัพย์สินที่มีชีวิตและดูถูกเหยียดหยามผู้หญิงมาก ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ใดๆ และไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม ผู้ชายสามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้หลายคนและจะหย่าเสียเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบ ลูกผู้หญิงไม่เป็นที่พึงปรารถนาของพ่อ บางทีพ่อถึงกับฝังลูกผู้หญิงเสียทั้งเป็น พ่อจำนวนมากฆ่าลูกผู้หญิงเสียเพราะกลัวความยากจน ระบบมากผัวมากเมียมีอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวอาหรับ หญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานก็สามารถจะคบชายใดๆ ก็ได้อย่างเสรีปล่อยตัวให้แก่ผู้ชายง่ายๆ แม่เลี้ยงสามารถแต่งงานกับลูกเลี้ยงได้ บางที่พี่น้องก็แต่งงานกันเองผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดกของสามีที่สิ้นชีพไปหรือของบิดาหรือ ญาติ
ระบบทาสมีอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวอาหรับ พวกเขาปฏิบัติต่อทาสอย่างไม่มีมนุษยธรรม ผู้เป็นนายทาสสามารถหยิบยื่นความเป็นความตายให้แก่ทาสเมื่อไหร่ก็ได้ การแต่งงานระหว่างทาสด้วยกันเป็นการผิดกฎหมาย และการแต่งงานระหว่างทาสกับผู้ไม่ใช่ทาสก็เป็นสิ่งต้องห้าม ผู้ใดละเมิดก็จะถูกลงโทษทัณฑ์อย่างหนัก
สังคมอารเบียยุคนั้นจมอยู่ในความชั่วร้ายเต็มไปด้วย การเชื่อถือไสยศาสตร์ และความโหดร้านป่าเถื่อน ชาวอาหรับถือไสยศาสตร์มากกระทั่งว่าพวกเขาจะไม่ยอมลงมือทำงานอะไรเลยจนกว่าจะได้ปรึกษากับรูปเคารพที่เขานับถือ หรือทำการเสี่ยงทายอย่างใดอย่างหนึ่งโดยการยิงลูกศรเสียก่อน มีการฆ่ามนุษย์บูชายัญถวายเทพเจ้า สังคมเต็มไปด้วยความไม่เสมอภาค การประหัตประหารกัน การดื่มเหล้ามายา เล่นการพนัน ปล้นสดมภ์ และความชั่วร้ายอื่นๆ อีกมากมาย สภาพทางด้านศีลธรรมและวัตถุธรรมของโลกทั่วๆ ไป และโดยเฉพาะของอารเบียนั้นน่าอัปยศอดสูเสียจนไม่มีใครจะแก้ได้นอกจากจะได้รับความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่สภาพการณ์ก่อนหน้าการอุบัติขึ้นของเยซูคริสต์ คือ เมื่อราวเจ็ดร้อยปีก่อนหน้านี้ยิ่งเลวร้ายไปกว่านี้เสียอีก นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) จึงได้อุบัติขึ้น ณ แผ่นดินนี้นั่นคือ สภาพทางการเมืองสังคมและศาสนาของประเทศต่างๆ ในโลกขณะนั้นอารเบียนับว่าเลวที่สุดและ นขณะที่อารเบียกำลังตกอยู่ในความทุกข์ทรมานความอยุติธรรม และความโหดร้ายทารุณมืดคลึ้มไปด้วยความชั่วร้ายและไสยศาสตร์นั่นเองท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ก็ได้อุบัติขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น