วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

ฮารูน อัร – รอชีด

ฮารูน อัร รอชีด ( Harun al – Rashid )
( ฮศ. 170 – 94 , คศ. 786 – 809 )

การขึ้นครองราชย์

            ฮารูนขึ้นครองราชย์เมื่อเกือบอายุยี่สิบห้าปี โดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง ในรัชสมัยของท่านราชอาณาจักรอับบาซียะห์ได้ก้าวสู่ระยะเวลาอันเจริญรุ่งเรืองของการปกครองชาวอาหรับในเอเซีย ซึ่งชื่อเสียงของท่านมิใช่ก้องอยู่เฉพาะแต่ในภาคพื้นภาคตะวันออกเท่านั้น แต่ยังได้แพร่สะพัดไปถึงประเทศตะวันตกด้วย
            งานชิ้นแรกของฮารูนก็คือการเลือกที่ปรึกษาเก่าของท่านคือยะห์ยา บิน คอลิด เป็นเอกอัครเสนาบดี และมอบตำแหน่งสำคัญอีกสองตำแหน่งให้แก่บุตรชายทั้งสองของยะห์ยา คือ ฟาฎิล ( Fadil ) และญะฟัร ( Ja ’ far ) ความสำเร็จและรุ่งเรืองในรัชสมัยของท่านนั้นส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับการทำงานที่ชื่อสัตย์ จงรักถักดีของคนในตระกูลบัรมัก
( Barmak ) นี้เอง ซึ่งประกอบไปด้วยความเอื้อเฟื้ออารีและจิตใจที่กว้างขวางซึ่งชาวอาหรับยกย่องอย่างสูง ต้นตระกูลนี้ก็คือคอลิดบินบัรมัก ( Khalid bin Barmak ) ผู้มีตำแหน่งสูงในสมัยอัสสัฟฟาห์และมัรซูรนั่นเอง
            ถึงแม้ว่าฮารูนจะได้มอบหมายงาน บริหารแก่บุคคลที่เข้มแข็งแล้วก็ตาม แต่ในปีแรกที่ได้ครองราชย์ ก็ยังมีการจลาจลวุ่นวายอยู่ดี ยะห์ยา บิน อับดุลลอฮ์ ซึ่งมาจากตระกูลของท่านอะลี หลบหนีไปอยู่ที่เมืองดีลัม ทางฝั่งตะวันตก เฉียงใต้ของทะเลสาปแคสเปียนได้ประกาศตน เป็นเคาะลีฟะห์ ฮารูนได้ส่งฟาฎิล นำทัพไปปราบแต่แทนที่ฟาฎิลจะต่อสู้กับเขา กับใช้วิธีเจรจาให้ฝ่ายศัตรูพ่ายแพ้โดยสัญญาว่าจะให้ความปลอดภัยและตำแหน่งสูงในกรุงบัฆดาดแก่เขา ยะห์ยายินยอม และเดินทางไปยังบัฆดาด ซึ่งเขาได้รับตำแหน่งตามสัญญา แต่ต่อมาเพียงไม่กี่เดือน เขาก็ถูกเคาะลีฟะห์กล่าวหาว่าคบคิดทำการกบฎจึงส่งตัวเข้าคุกและสิ้นชีพในนั้น
            ด้วยความเกร่งศัตรูฝ่ายอะลีกำเริบขึ้นอีก ฮารูนจึงสั่งให้รวมเอาเมืองที่มีกำลังเข้มแข็งในแคว้นคินเนริสน์ ( Kinnerisn ) และมีเมโสโปเตเมียเข้าเป็นแคว้นพิเศษโดยให้ชื่อว่า อัล อะวาซิม ” ( ป้อมปราการสำหรับป้องกันภัย ) นอกจากนั้นยังทรงบูรณะและเสริมกำลังเมืองตัสซุร ( Tarzus ) ให้แข็งเกร่งขึ้นอีกด้วย กองทัพมุสลิมสามารถยาตราเข้าไปในเอเซียไมเนอร์ท่านก็ถูกโจมตีอย่างกระทันหันโดยพวกคอซัร ( Khasar ) คนเหล่านี้ได้บุกเข้ามาในอาร์เมเนีย และสร้างความพินาศอย่างใหญ่หลวงให้แก่อาณาจักรอิสลาม แม่ทัพผู้กล้าหาญสองคนคือ เคาะซีมะห์ ( Khozema ) และยะซิด อิบนุ มะซาด ( Yazid ibn Mazad ) ถูกส่งตัวไปปราบพวกคอซัรและขับไล่พวกนั้นออกไปจากอาร์เมเนียได้
            ฮารูนได้แต่งตั้งโอรสคนโตของท่านถือยศ อัล อามีน  ( al – Amin ) ผู้จะได้รับตำแหน่งเคาะลีฟะห์ สืบต่อจากท่านโดยตรง และตั้งโอรสท่านที่สองให้ถือยศ อัล มะมูน ( al – manun ) โอรสท่านที่สามได้รับยศ อัล มุอ์ตามิน ( al – Mutamin )

 

ความตกต่ำ

            ในปีต่อมาหลังจากแต่งตั้งโอรสเป็นผู้สืบต่อตำแหน่งแล้ว อะลีก็คิดที่จะโค่นล้มตระกูลบัรมัก ซึ่งเคยรับใช้ท่านถึงสิบเจ็ดปีอย่างซื่อสัตย์และมีความสามารถอย่างเอกอุลงเสีย นักประสัติศาสตร์ได้อธิบายถึงสาเหตุนี้ไว้ต่าง ๆ กัน แต่อิบนุคอดูน ( lbn Khaldun ) นักประวัติศาสตร์ใหญ่ของมุสลิมกล่าวว่าตระกูลนี้มีอิทธิพลมากมายเกินไปอย่างไม่จำกัดยึดเอาอำนาจราชการไว้และก้าวก่ายในกองคลังสาธารณะ ข้าราชการตำแหน่งสูง ๆ ทั่วราชอาณาจักรเป็นผู้ได้รับคัดเลือกจากตระกูลนี้ทั้งสิ้น ทั้งข้าราชการทั้งของฝ่ายทหาร และพลเรือนทุกคนต่างนิยมยกย่องพวกเขาจนกระทั่งมีชื่อเสียงมากกว่าเจ้านายของตนเอง ฉะนั้นอำนาจของตระกูลนี้จึงก่อให้เกิดความอิจฉาริษยาขึ้นขึ้นในราชสำนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ฟัรล์ บิน รอบีอ์ ( Fadl bin Rabi ) ผู้พยายามใส่ร้ายป้ายสีให้เคาะลี-ฟะห์รู้สึกไม่ไว้ใจพวกเขา ฮารูนก็หลงเชื่อจึงสั่งให้ประหารชีวิตญะฟัรเสีย และในวันต่อมายะห์ยา ฟาฎิลและคนอื่น ๆ ในตระกูลบัรมักก็ถูกจับไปจำขังไว้ทรัพย์สินทั้งหมดถูกยึด มีเหลือพียงคนเดียวไม่ถูกรบกวนคือมุฮัมมัด พี่ชายของยะห์ยา ซึ่งเป็นกรมวังของเคาะลีฟะห์ตั้งแต่ ฮศ. 179 หรือ คศ. 795
            ในปีเดียวกันนั้น ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในคอนสแตนติโนเปิลราชินีอีรีนา ( lreena ) ถูกโค่งล้มและจักพรรดิ์ท่านใหม่ คือ นิซฟอรัส ( Nicephorus ) คิดว่าตนเข้นแข็งพอที่จะปฏิเสธที่จะไม่จ่ายเงิน บรรณาการแก่ราชอาณาจักรอิสลาม จึงได้เขียนสาส์นท้าทายมายังฮารูน ฮารูนจึงยกทัพไปปราบเข้าอาร์เซียไมเนอร์ และยึดเมืองฮีราคลี ( Heraclea ) ได้ ตลอดทางที่กองทัพผ่านไป ท่านได้สั่งให้เผาเมืองไปตลอดทาง จนนิซฟอรัส หวาดกลัว จึงเจรจาขอทำสัญญาสันติภาพ แต่พอฮารูนกลับมาเมืองหลวงนิศฟอรัสทำผิดสัญญาฮารูนจึงยกทัพกลับไปอีก นิซฟอรัสได้หนีไปที่สนามรบ แต่การจลาจลที่คูราซานจึงทำให้จักรพรรดิ์ได้ใจ จึงทิ้งสัญญาที่ให้ไว้ตอนหลังอีก และเข้ามาบุกรุกอาณาจักรอิสลามจนถึง เมืองอราซัรบะห์ ( Anasarba ) ไล่ต้อนผู้คนไปเป็นเชลยศึกเป็นจำนวนมาก ฮารูนเหลือที่จะอดทนจึงกรีฑาทัพซึ่งมีจำนวนคน 135,000 คน ไปต่อสู้ยึดได้เมืองฮีราคลีและเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมือง และได้ใช้เมืองธานา ( Thana ) เป็นฐานทัพในขณะเดียวกันแม่ทัพของท่านก็พิชิตเกาะไซปรัส ( Cyprus ) ได้ นิซฟอรัสพ่ายแพ้ยับเยินจนต้องยอมจำนนภายใต้เงื่อนไขที่รุนแรงแต่ในปี ฮศ. 192 หรือ คศ. 817  ขาวกรีกทำผิดสนธิสัญญาอีก ได้เข้ามาโจมตีดินแดนเขตมุสลิมทำความพินาศ เสียหาย แก่ชาวมุสลิมเป็นอันมากอย่างยิ่ง สุดที่เคาะลีฟะห์จะแก้ไขได้
            ฮารูนต้องการจะพิชิตแอฟริกาจึงทรงพยายามยกทัพไปโจมตีหลายครั้ง อิบรอฮีมบินอัฆลับ ( lbrahim bin Aghlab ) เป็นผู้ปกครองแอฟริกาได้ขอเจรจาขอทำสัญญาสนธิมิตรภาพกับฮารูนท่านจึงทรงแต่งตั้งให้อิบรอฮีมเป็นอุปราชแห่งแอฟริกาต่อไป
            ในระหว่างรัชสมัยของฮารูนความอิจฉาริษยาแต่เก่าก่อนของชาวซีเรีย ได้ระเบิดขึ้นทำให้ดามัสกัสต้องวุ่นวายอยู่เป็นเวลาสองปี แต่ในที่สุดก็ถูกปราบให้สงบลงได้ต่อมาเมืองโมซุลก็เต็มไปด้วยการกบฎอยู่เป็นเวลาสองปีจนกระทั่ง  เคาะลีฟะห์เข้ายึดเมืองไว้และทำลายกำแพงเมืองเสีย นอกจากนั้นยังมีการกบฎอย่างรุนแรงมากกว่าเกิดขึ้นที่อาร์เมเนีย และฮัรวาน ( Halwan ) อีก โดยมีหัวหน้าพวกคอริญีย์ ชื่อ อัล วะลีดบินตาอ์รีฟ
( Al – walid bin Tarif ) เป็นหัวหน้าแต่การกบฎนี้ก็ถูกปราบลงได้เช่นเดียวกัน
            ในแคว้นคูราซานก็เกิดจลาจลขึ้นครั้งใหญ่เหมือนกัน  แต่อะลี บิน อีซา ( Ali bin lsa ) ผู้เป็นผู้ปกครองที่นั่นก็ทำการปราบปรามลงได้ ต่อมาร็อบอิบนุลาวิษ ( Rab ibn lawith ) ได้ก่อการกบฎขึ้นในสะมัรก็อนด์ ( Samarkand ) โดยรบชนะบุตรชายของ อะลีบินอีซา อะลีหลบหนีไปจากเมือง ร็อบ เข้ายึดแคว้นนั้นได้จนถึงโอซัส  ( Oxus ) เคาะลีฟะห์ได้ส่งกองทัพไปปราบกบฎ เมื่อร็อบไม่ยอมแพ้ท่านจึงยกทัพไปเองที่คูราซานโดยพาโอรสท่านที่สองไปด้วยในระหว่างทางท่านได้ล้มป่วยและสิ้นชีพในเดือนมีนาคม คศ. 809

 

ผลดีผลเสียในรัชสมัยของเคาะลีฟะห์ฮารูน อัร รอชีด

            ฮารูน อัร รอชิดเป็นเคาะลีฟะห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ทรงเป็นนักปกครองที่สามารถที่สุดคนหนึ่งในโลก ในศตวรรษที่ 9 มีกษัตริย์นามกระเดื่องอยู่สองท่านคือ ชาร์ลมาญ ( Charlemagne ) แห่งโลกตะวันตก และฮารูนแห่งโลกตะวันออก นักประวัติศาสตร์คนสำคัญคือ พี.เค. ฮิตติ  ( P.K. Hlttl ) ได้กล่าวว่ากษัตริย์สองท่านนี้ แน่นอนฮารูนนั้นมีพลังอำนาจมากกว่า และเป็นตัวแทนวัฒนธรรมที่สูงส่งกว่า ท่านทรงปฏิบัติตามศาสนาอย่างไม่ทอดทิ้ง มีชีวิตอย่างไม่ฟุ่มเฟือยมีใจบุญอย่างไม่โอ้อวด แต่กระนั้นก็ยังชอบที่จะแวดล้อมตนเองด้วยความโอ่อ่าและเครื่องราชกุธภัณฑ์ที่หรูหรา ท่านทรงทำตัวตามความคิดคำนึงของประชาชนและบุคลิกของท่านมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง ทรงเป็นทหารและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ทรงนำทัพไปต่อสู้กับชาวกรีกและได้รับชัยชนะมาหลายครั้ง
            ถึงแม้ว่าท่านจะทรงด้อยกว่าโอรสในด้านความเข้มแข็งในบุคลิกภาพ และสติปัญญา ในสมัยเดียวกันในประวัติศาสตร์ของโลก ในรัชสมัยของท่านประชาชนมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดและศิลปะ อารยะธรรมก็ก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก
            ฮารูน อัร รอชีด เป็นกษัตริย์ที่มีความกล้าหาญและความสามารถอย่างผิดธรรมดา จึงสามารถปกครองราชอาณาจักรอิสลามอันกว้างใหญ่ได้เป็นอย่างดีเป็นเวลาถึง 23 ปีในระหว่างนั้นอาณาจักร ก็มีความสงบสุขเรียบร้อยอยู่ทั่วไป พ่อค้า นักศึกษา และนักเดินทางทั้งหลาย สามารถเดินทางไปมาโดยไม่ต้องเกรงภัยอันตรายตามทางเลย ทั่วทั้งราชอาณาจักร อันกว้างใหญ่ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและดีเลิศของการบริหารแผ่นดิน   ท่านจึงมักเดินทางไปทั่วราชอาณาจักเพื่อดูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับความทุกข์ยาก ทรงแจกจ่ายเงินจำนวนมากให้แก่คนยากจนและขัดสนอยู่เนือง ๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมือง ได้ทรงสร้างโรงเรียน วิทยาลัย สถานที่ให้ยารักษาโรค ทรงสร้างมัสญิด ถนนหนทาง และคลอง นับว่าไม่มีเคาะฟะห์ท่านใดก่อนหน้าหรือภายหลังที่ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ราชอาณาจักรเท่าเทียมท่าน แต่สิ่งที่ทำให้รัชสมัยของท่านมีชื่อเสียงมากก็คือ การนำมาซึ่งอักครอักษรศาสตร์ ในราชสำนักของท่านเต็มไปด้วยผู้ที่มีความสามารถเด่นมากมายทั้งขุนนาง ผู้พิพากษา นักพูด นักรวบรวมหะดิษ นักกวี นักร้อง นักดนตรี และการทำให้บัฆดาดกลายเป็นเมืองที่เด่นดึงดูดใจไม่ใช่แต่เพียงเพราะว่ามันเป็นเมืองกว้างขวาง ร่ำรวย และสวยงามเท่านั้น แต่เพราะมันเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปวิทยาและ อารยธรรมอีกด้วย อิสมาอีล ( lsmail ) นักภาษาศาสตร์ ซาฟีอี ( Shafai ) อับดุลลอฮ์บินอิดริส (Abdullah bin ldris) อีซาบิยยูนุส ( lsa bin Unus ) อิบรอฮีม โสมุลี ( lbrahim Mosuli ) นักดนตรี และญิบรีล  ( Gabriel ) ผู้เป็นแพทย์ต่างก็มีชีวิตอยู่ในสมัยนี้ สำนักกฎหมายหะนะฟี ( Hanafi ) เจริญรุ่งเรืองภายใต้การนำของอบูยูซุฟ ( Abu Yasuf ) หัวหน้าผู้พิพากษา ท่านทรงขยายที่ทำการสำหรับแปลงงานทางด้านวิทยาศาสตร์มาเป็นภาษาอาหรับซึ่ง อัล มันศูรเป็นผู้จัดตั้งขึ้นให้ใหญ่ขึ้นด้วย
            ชัยชนะที่ท่านมีต่อพวกไบแซนไตน์และนิซฟอรัสก็ทำให้ท่านมีชื่อเสียงอยู่ในโลกสมัยนั้นมากขึ้นอีก นอกจากนั้น ความรอบรู้ความมีชีวิตชีวา คำสนทนาซึ่งน่าฟังของท่านรวมทั้งของกำนัลที่ท่านมีค่าที่ทรงประทานให้แก่ผู้คน อย่างง่าย ๆก็เป็นที่ดึงดูดให้บุคคลที่เด่น ๆ เข้ามาหาท่านด้วย จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจเลยที่นักเขึยนสมัยหลัง ๆ จะมองย้อนไปดูรัชสมัยของเคาะลีฟะห์ฮารูน อัร รอชิดว่าเป็นสมัยทองของอิสลาม
            กิติศัพท์ของฮารูน อัร รอชิดกระฉ่อนไปทั่วตะวันออกและตะวันตก จนจักรพรรดิ์ชาร์ลมาญแห่งพวกแฟรงค์ ได้ส่งทูตมาเจริญสันถวไมตรี กับราชสำนักท่าน

2 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้มากค่ะ ท่านได้รับยกย่องให้เป็นพระราชาในนิทานอาหรับราตรีด้วย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ครับท่านเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ปกครองที่ยอดเยี่ยมและชนะใจคนได้อย่างแท้จริง

      ลบ