ชีวิตตอนต้นของท่าน
ท่านอุมัรถือกำเนิดในคศ. 513 ในตระกูลกุร็อยช์ที่มีชื่อเสียงตระกูลหนึ่งของเผ่าอัดดิยาอ์ ท่านเป็นคนหนึ่งในจำนวนน้อยคนที่อ่านออกเขียนได้ในสมัยเริ่มแรกของอิสลาม อาชีพสำคัญของท่านคือธุรกิจการค้า ก่อนจะมาเข้ารับอิสลาม ท่านเป็นศัตรูคนสำคัญของท่านศาสดาด้วยการยุยงของอบูซุฟยาน วันหนึ่งท่านจะตัดคอท่านศาสดา แต่ในระหว่างทางท่านได้ยินข่าวว่าน้องสาวและน้องเขยของท่านเข้ารับอิสลาม ท่านเป็นเดือดเป็นแค้นมากจนถึงกับคิดจะลงโทษคนทั้งสอง แต่ถ้อยคำอันอ่อนหวานของอัลกุรอานที่เขาทั้งสองอ่านให้ท่านฟังทำให้จิตใจของท่านอ่อนลง ท่านวิ่งไปหาท่านศาสดาและเข้ารับอิสลามในทันที การเปลี่ยนมานับถืออิสลามของท่านเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อท่านศาสดาและภาระกิจของท่าน
งานของท่านที่ทำให้อิสลามก่อนที่จะรับตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์
ในระหว่างที่ท่านศาสดาหลบภัยไปอยู่มะดีนะฮ์นั้น ท่านได้ควบคุมคนยี่สิบคนคอยพิทักษ์ภัยให้แก่ท่านศาสดา ท่านได้เข้าร่วมในสงครามบัดร์และสงครามอุฮุด และในสงครามคูเมืองท่านก็ได้แสดงความกล้าหาญอย่างมากในยามที่ฝ่ายมุสลิมถูกล้อมอยู่ในเมืองมะดีนะฮ์ ในปีที่ 8 แห่งฮศ. ท่านได้ร่วมเดินทัพไปยังมักกะฮ์ด้วย ท่านได้เข้าร่วมการสู้รบที่ฮุนัยน์และตะบูค ท่านเป็นมิตรสนิทของท่านอบูบักร์ทั้งในยามทุกข์และยามสุข
หลังจากท่านอบูบักร์สิ้นชีวิตลง ท่านอุมัรก็ได้ทำการปกครองอารเบียและดำเนินนโยบายขยายเขตแดนต่อจากท่านอบูบักร์อย่างเข้มแข็ง ท่านได้นำเอาอาณาจักรเปอร์เชียและโรมมาอยู่ใต้ร่มธงอิสลามได้ในเวลาไม่ช้า
การแผ่ขยายของศาสนาอิสลามในสมัยท่านอุมัร
ก่อนที่จะพูดถึงรายละเอียด เราจะมาดูสาเหตุที่ทำให้มุสลิมมีความขัดแย้งกับเปอร์เชียจนในที่สุดก็พิชิตเปอร์เชียได้นั้นเสียก่อน ความเป็นปรปักษ์ระหว่างมุสลิมกับเปอร์เชียเริ่มขยายขึ้นเนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ชาวเปอร์เชียไม่เคยเก็บรักษาความดีงามของมุสลิมไว้ในหัวใจของพวกเขาเลย เพราะเหตุนั้นพวกเขาจึงพยายามที่จะทำลายอิสลามเสียแต่ต้นมือ เมื่อท่านศาสดาส่งทูตของท่านไปยังพระราชวังแห่งเปอร์เชีย กษัตริย์เปอร์เชียซึ่งมีชื่อว่า คุสโรที่ 2 หรือในประวัติศาสตร์เปอร์เชียรู้จักกันในนามว่า คุสโรปาร์วิส ได้สบประมาททูตซึ่งทำให้ฝ่ายมุสลิมไม่พอใจ ความเป็นปรปักษ์ของชาวเปอร์เชียได้แสดงออกมาให้เห็นอีกในคราวกบฏแห่งบาห์เรนในสมัยของท่านอบูบักร์ เมื่อชาวเปอร์เชียช่วยเหลือศัตรูของมุสลิม ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าชาวเปอร์เชียเป็นอันตรายต่อรัฐอิสลาม
ทางด้านภูมิศาสตร์ อิรักซึ่งในตอนนั้นเป็นแคว้นหนึ่งของอาณาจักรเปอร์เชียและก็เป็นส่วนหนึ่งของอารเบียด้วย นอกจากนั้นชนเผ่าอาหรับที่อาศัยอยู่ติดชายแดนอิรักและคอลเดียยังได้ช่วยญาติของตนในอารเบียแข็งข้อต่ออิสลามด้วย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของอิสลาม มุสลิมจึงจำเป็นต้องจับดาบขึ้นต่อสู้กับเผ่าตามชายแดนเหล่านั้น
องค์ประกอบด้านเศรษฐกิจก็มีความสำคัญไม่น้อยต่อชะตากรรมของเปอร์เชีย อิรักเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากมาย เพราะมีแม่น้ำยูเฟรติส และไทกริสไหลผ่าน อารเบียนั้นเป็นดินแดนที่แห้งแล้ง จึงต้องอาศัยการค้าขายซื้อข้าวของจากอิรัก แต่เปอร์เชียไม่ยอมให้อารเบียทำการค้าขายติดต่อกับอิรัก ดังนั้นความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจจึงทำให้อารเบียเกิดความขัดแย้งกับเปอร์เชีย
การสู้รบที่ นะมัรร็อก (Namarrag)
ในระหว่างสมัยของท่านอบูบักร์มุสลิมได้พิชิตส่วนหนึ่งของเปอร์เชียภายใต้ราชวงศ์ซัสซานิค ซึ่งเรียกกันว่า ราชอาณาจักร์ฮิรา(Hira) เมื่อต้องสูญเสียฮิราไปเปอร์เชียโกรธแค้นจึงคิดจะแก้แค้นมุสลิม กษัตริย์เปอร์เชียได้ส่งรัสตัม(Rustum)นายทัพผู้มีชื่อเสียงมาพร้อมกับกองทัพใหญ่ ตอนนั้นคอลิด บินวะลิดได้ยกทัพไปซีเรียแล้ว มุษันนาจึงถูกทิ้งอยู่ที่ชายแดนเปอร์เชียแต่ผู้เดียวกับทหารของเขา เขาได้ขอกำลังเพิ่มมายังเคาะลีฟะฮ์ ท่านอุมัรจึงได้ส่งอบูอุบัยดะฮ์ไปช่วย ได้มีการสู้รบกันในที่ซึ่งมีชื่อเรียกว่า นะมัรร็อก ฝ่ายเปอร์เชียพ่ายแพ้ ฝ่ายมุสลิมจึงยึดแคว้นฮิรา
การสู้รบที่ญัสร์ (Jasr)
ความพ่ายแพ้ของเปอร์เชียที่นะมัรร็อกทำให้ฝ่ายเปอร์เชียรู้สึกเจ็บแค้น พวกเขาจึงยกทัพมาปะทะกับฝ่ายมุสลิมอีกที่ฝั่งหนึ่งของแม่น้ำยูเฟรติส ภายใต้การนำของบะฮามาน(Bahaman) อบูอุบัยดะฮ์ได้ข้ามแม่น้ำไปต่อสู้กับฝ่ายเปอร์เชียแต่ก็พ่ายแพ้ และอบูอุบัยดะฮ์ได้สิ้นชีวิตในสนามรบ
การสู้รบที่บุวัยบ์ (Buwaib)
ท่านอุมัรได้สั่งให้รวบรวมกองทหารขึ้นใหม่ มุสลิมและคริสเตียนได้สมัครเข้าเป็นทหารอย่างมากมาย กองทัพทั้งสองฝ่ายปะทะกันตรงที่ที่เรียกว่า บุวัยบ์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองคูฟะฮ์ไปไม่กี่ไมล์ ฝ่ายเปอร์เชียพ่ายแพ้ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก นายทัพของพวกเขาคือ มะฮ์รอน ก็ถูกฆ่าตายในสนามรบ
การสู้รบที่ กอดิซียะฮ์ (Qadisiya)
พวกเปอร์เชียพยายามแก้แค้นอีก เมื่อท่านอุมัรทราบเรื่องเข้า ท่านจึงได้ประกาศสงครามศาสนา(Jihad) ทั่วประเทศ ซะอ์ด บินอบีวักกอส ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ เขาได้รับคำสั่งให้ไปตั้งทัพที่กอดิซียะฮ์ และให้ส่งทูตไปยังราชสำนักของเปอร์เชียพร้อมด้วยสาส์นของอิสลามก่อนที่จะทำการโจมตี แต่กษัตริย์ ยัซดิเกิร์ด แห่งเปอร์เชียได้สบประมาททูตและขับไล่ออกจากวัง การปฏิบัติอย่างเลวทรามต่อทูตเช่นนี้ เร่งให้เกิดสงครามเร็วขึ้น เปอร์เชียได้ส่งทหารมาโจมตีมุสลิมโดยมีรัสตัมเป็นแม่ทัพ แต่รัสตัมได้ทำสนธิสัญญากับฝ่ายมุสลิม วันรุ่งขึ้น กองทัพเปอร์เชียก็เคลื่อนเข้ามา ซะอ์ด ซึ่งขณะนั้นล้มป่วยได้สั่งการรบจากที่นอน การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดเป็นเวลามสามวัน ถึงแม้ว่าฝ่ายเปอร์เชียจะรบอย่างกล้าหาญ แต่ก็พ่ายแพ้ และรัสตัมถูกฆ่าตายในขณะที่กำลังวิ่งหนีจากสนามรบ เมื่อรัสตัมตาย ทหารเปอร์เชียก็แตกตื่นหนีไป การสู้รบที่กอดิซียะฮ์นี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์อิสลาม เพราะสามารถตัดกำลังของเปอร์เชียไปอย่างมาก และทำให้อิสลามปักหลักลงในเปอร์เชียได้
การยึดมะดาอิน (Madain)
หลังจากนั้นสองสามเดือน ซะอ์ด ก็ได้ยกทัพไปตีเมืองหลวงคือมะดาอิน และเข้าครองได้ ดังนั้น ดินแดนทั้งหมดซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำยูเฟรติส กับไทกริส จึงกลายเป็นของมุสลิม
การสู้รบที่ ญาลุละ (Jalula)
กษัตริย์เปอร์เชียหนีไปอยู่ในเมือง ฮัลวาน ซึ่งอยู่ทางเหนือของญาลุละประมาญร้อยไมล์ พระองค์ได้สั่งให้กองทัพของเปอร์เชียยกมาอีก และยึดส่วนหนึ่งของญาลุละได้ ซะอ์ดจึงส่งกองทัพไปปะทะ ได้เข้าล้อมกองทัพของเปอร์เชียอยู่แปดวัน ฝ่ายเปอร์เชียจึงยอมแพ้ ฝ่ายมุสลิมจึงเข้ายึดเมืองฮัลวาน หลังจากนั้นก็ได้มีการทำสัญญาสงบศึกกัน
ไม่มีการสู้รบอยู่สองสามเดือน แต่ฝ่ายเปอร์เชียได้ละเมิดสัญา ฝ่ายมุสลิมจึงต้องทำสงครามกับเปอร์เชียอีก การสู้รบใหญ่มีขึ้นที่เมือง นิฮาวันต์ ในปี คศ. 642 ซึ่งฝ่ายเปอร์เชียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างยับเยิน เปอร์เชียทั้งหมดจึงตกเป็นของมุสลิม
สาเหตุที่เป็นปรปักษ์กับอาณาจักรไบแซนไตน์
ในระยะต้นของอิสลาม ความสัมพันธ์ระหว่างอารเบียกับอาณาจักรไบแซนไตน์(คืออาณาจักรโรมันตะวันออกอันประกอบด้วยซีเรีย ปาเลสไตน์และอียิปต์) นั้นเป็นไปอย่างมิตรที่ดีต่อกันเมื่อทูตของมุสลิมถูกส่งไปยังราชสำนักของจักรพรรดิ์โรมันในสมัยที่ท่านศาสดายังมีชีวิตอยู่ พระองค์ก็ทรงให้การต้อนรับอย่างดี แต่ต่อมาความสัมพันธ์เริ่มเสื่อมลง เจ้าชายคริสเตียนแห่งบนูฆ็อซซานแห่งซีเรียได้ฆ่าทูตของท่านศาสดาตายที่ มุอ์ตะฮ์ ในขณะที่เขากำลังจะเดินทางไปเข้าเฝ้าเจ้าชายแห่งบัศเราะฮ์ ดังนั้นความเป็นปรปักษ์ระหว่างชาวมุสลิมกับไบแซนไตน์จึงเริ่มตึงเครียด ในสมัยของท่านอบูบักร์ความสัมพันธ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ต่อมาฮีราคลิอุสได้ยุยงชาวเบดูอินให้หันมาคัดค้านมุสลิม นี่เป็นสาเหตุให้เกิดสงครามอัจนาดานขึ้น
นอกจากนั้นยังมีสาเหตุอื่นอีกที่ทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหินไป คืออารเบียเป็นดินแดนที่มีแต่ทะเลทราย เพราะฉะนั้นประชาชนของอารเบียจึงต้องไปแสวงหาผลประโยชน์จากนอกประเทศ ตรงกันข้ามกับอาณาจักรไบแซนไตน์ที่มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์และมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตน ชาวมุสลิมจึงต้องหันมาจับตามองอาณาจักรไบแซนไตน์ นอกจากนั้น ที่ตั้งของอาณาจักรนี้ยังอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ซึ่งจะทำความปลอดภัยให้แก่อิสลามได้ด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับชาวโรมันก็ไม่ค่อยจะกินเกลียวกันอยู่แล้ว หลังจากโรมันพ่ายแพ้ที่ยัรมูกแล้วความสัมพันธ์ก็ทำท่าจะกลับดีขึ้น เมื่อเยรูซาเล็มถูกล้อม ประชาชนที่นั่นได้ทำสนธิสัญญากับเคาะลีฟะฮ์ ซึ่งมีชื่อสัญญาว่า สนธิสัญญาแห่งเยรูซาเล็ม หลังจากนั้นความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น แต่ต่อมาภายหลังความสัมพันธ์ดังกล่าวกับเลวลงมีแต่ความเป็นปรปักษ์กันอยู่เสมอ แต่ฝ่ายมุสลิมนั้นใช้นโยบายประนีประนอม เมื่อยึดได้ประเทศหนึ่งประเทศใดก็ใช้นโยบายเช่นนี้ ฉะนั้นในตอนที่อาณาจักรไบแซนไตน์ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอิสลาม มุสลิมไม่เพียงแต่ปฏิบัติต่อประชาชนแห่งไบแซนไตน์อย่างเป็นมิตรเท่านั้น แต่ยังพยายามทุกวิถีทางที่จะปรับปรุงสภาพของพวกเขาให้ดีขึ้นอีกด้วย
ชาวไบแซนไตน์ได้รับการปฏิบัติอย่างดีด้วยความเมตตากรุณาและยุติธรรม ไม่เคยมีสมัยใดที่พวกเขาจะอยู่กันอย่างสงบและสันติเหมือนในสมัยที่อยู่ในการปกครองของมุสลิมเลย
การพิชิตซีเรีย
ในขณะที่ท่านอบูบักร์กำลังนอนป่วยอยู่กองทัพมุสลิมก็ได้ชัยชนะต่อพวกโรมันที่ชายแดนซีเรีย หลังจากนั้น คอลิด บินวะลิดก็ได้ผนวกดามัสกัส อัรดัน และฮิมส์ เข้ามาอยู่ในอาณาจักรอิสลาม เมื่อเมืองสำคัญเหล่านี้พ่ายแพ้แก่มุสลิม จักรพรรดิ์ฮิราคลิอุสจึงเกรี้ยวโกรธ จึงได้ส่งกองทัพใหญ่มารุกรานมุสลิม กองทัพมุสลิมได้มารวมกันที่ยัรมูกภายใต้การนำทัพของอบูอุบัยดะฮ์
ครั้งแรกพวกเขาไม่ต้องการทำสงคราม แต่ก็จำต้องทำเพราะถูกบีบบังคับโดยพวกโรมัน การสู้รบได้เกิดขึ้นที่ยัรมูกในเดือน กรกฏาคม คศ.634 กองทัพโรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และเมืองต่างๆในซีเรียก็ยอมจำนนกันทีละเมืองๆ จักรพรรดิ์ฮิราคลิอุสจึงเสด็จไปอยู่ที่เมืองคอสแสตนติโนเปิล
การสู้รบที่ยัรมูกนี้เป็นเสมือนจุดกลับของประวัติศาสตร์ซีเรีย อำนาจของโรมันถูกบดขยี้ ประชาชนบางส่วนขอเข้ารับอิสลาม ส่วนผู้ที่ไม่ยอมเข้ารับอิสลามก็เสียภาษี(ญิซยะฮ์) ได้มีการทำสัญญาสันติภาพระหว่างกันว่า เมื่อถึงคราวจำเป็นทั้งผู้ที่เข้ารับอิสลามและผู้ที่เสียภาษีญิซยะฮ์จะช่วยเหลือต่อสู้เพื่อมุสลิม
การยึดเมืองเยรูซาเล็ม
เมื่อยึดเมืองยัรมูกได้แล้ว กองทัพมุสลิมก็เข้าล้อมเมืองเยรูซาเล็ม ประชาชนชาวเยรูซาเล็มยอมแพ้โดยมีเงื่อนไขว่า ท่านเคาะลีฟะฮ์จะต้องมาลงนามในสนธิสัญญาด้วยเอง ท่านอุมัรก็ตกลงทำสัญญานั้น ซึ่งในสนธิสัญญามีใจความว่า "จะให้การปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน โบสถ์ของประชาชนชาวเยรูซาเล็มอย่างเต็มที่ โบสถ์ของพวกเขาจะไม่ถูกใช้เป็นบ้านที่อยู่อาศัย หรือถูกรื้อถอนหรือพังทะลาย จะไม่บังคับพวกเขาให้เข้ารับอิสลาม และพวกเขาจะไม่ถูกข่มเหงรังแกด้วยวิธีใดๆ ประชาชนชาวเยรูซาเล็มจะยินดีเสียภาษีญิซยะฮ์ให้เหมือนประชาชนในเมืองอื่นเสีย ชาวกรีกจะต้องถูกขับไล่ออกไป แต่ชาวกรีกคนใดยอมออกจากเมืองไปเอง เขาก็จะได้รับการปกป้องชีวิต ทรัพย์สินจนกระทั่งไปถึงที่ปลอดภัย และผู้ใดก็ตามที่ต้องการจะไปจากเมืองกับชาวกรีกชีวิตทรัพย์สมบัติและศาสนาของเขาก็จะได้รับการปกป้อง สนธิสัญญานี้จะดำเนินไปจนกระทั่งคนรุ่นต่อมา
การพิชิตเมืองญะซีเราะฮ์ (Jasirah)
ในปี ฮศ.17 หรือ คศ.638 จักรพรรดิ์โรมันได้พยายามที่จะเอาซีเรียคืน โดยยุยงประชาชนชาวเมืองญะซีเราะฮ์ให้ต่อสู้กับมุสลิม ชาวอาหรับไม่ได้ต้องการเขตแดนเพิ่มขึ้น แต่จำต้องสู้รบเพื่อปกป้องอารเบีย เมื่อปกป้องได้แล้วเขาก็จะหยุดต่อสู้ แต่ฝ่ายข้าศึกกลับไม่ยอมให้หยุด กองทัพมุสลิมซึ่งมี อบูอุบัยดะฮ์เป็นแม่ทัพ จึงทำการต่อสู้กับฝ่ายข้าศึกจนข้าศึกแตกพ่ายไป ซีเรียทั้งประเทศจึงตกเป็นของมุสลิม.
การพิชิตอียิปต์
ในตอนปลายปีคศ. 639 หรือฮศ.18 อัมร์ บินอาส ได้ยกทัพจากปาเลสไตน์ไปยังอียิปต์ เหตุผลในการไปตีอียิปต์ก็เพราะสถานที่ตั้งของอียิปต์นั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินของอียิปต์ซึ่งสามารถผลิตพืชผลได้มากมาย และความเป็นปรปักษ์ของจักรพรรดิ์โรมันก็ทำให้เคาะลีฟะฮ์หันไปสนใจอียิปต์ ชาวไบแซนไตน์เคยอาศัยอยู่ในอียิปต์ นับตั้งแต่ถูกขับไล่มาจากซีเรียและปาเลสไตน์ การที่จะปล่อยให้คนเหล่านี้อยู่ใกล้ๆกับซีเรียและปาเลสไตน์เช่นนั้น ไม่เป็นการปลอดภัยสำหรับชาวมุสลิม นอกจากนั้นอียิปต์ยังตั้งอยู่ใกล้แคว้นฮิยาซมากจนอาจก่อให้เกิดอันตรายให้แก่มุสลิมขึ้นเมื่อใดก็ได้ เมืองหลวงของอียิปต์คืออเล็กซานเดรียก็เป็นฐานทัพเรือของซีเรีย และเป็นเสมือนประตูเปิดออกไปสู่แอฟริกาเหนือด้วย ทางด้านเศรษฐกิจนั้นชาวอาหรับยังต้องอาศัยประเทศอื่นอยู่ และอียิปต์ก็เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์เพราะมีแม่น้ำไนล์ไหลผ่าน ดังนั้นฝ่ายมุสลิมซึ่งต้องการจะปรับปรุงสภาพของตนเองและทำให้สภาพเศรษฐกิจของฝ่ายไบแซนไตน์อ่อนแอลง จึงจำเป็นจะต้องพิชิตอียิปต์ให้ได้ พฤติกรรมของจักรพรรดิ์โรมันก็ช่วยให้การเข้ายึดอียิปต์เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น จักรพรรดิ์โรมันได้ยุยงประชาชนชาวญะซีเราะฮ์ให้ต่อต้านมุสลิมและคิดที่จะเข้าโจมตีซีเรียโดยผ่านทางอียิปต์ ด้วยเหตุผลดังนี้เคาะลีฟะฮ์จึงให้ อัมร์ บินอาส เดินทัพไปสู่อียิปต์ พร้อมด้วยกำลังทหาร 4,000 คน หลังจากโจมตีเมืองเล็กๆได้หลายเมืองแล้วก็ได้ไปล้อมเมืองฟุสฏอฏ (Fustat) อยู่ 7 เดือนจึงยึดเมืองได้
เมื่อฟุสฏอฏถูกยึดได้ จักรพรรดิ์โรมันจึงส่งกองทัพใหญ่มายังเมืองอเล็กซานเดรีย หลังจากที่ได้ต่อสู้กันอย่างดุเดือด อเล็กซานเดรียก็เป็นของมุสลิมในปี ฮศ.20 หรือ คศ.640 อียิปต์ทั้งประเทศก็ตกเป็นของมุสลิม หลังจากนั้นท่านอุมัรก็คิดว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องปรับปรุงสภาพของประชาชนอียิปต์ให้ดีขึ้น ได้มีการทำนุบำรุงการเกษตร เก็บภาษีให้ลดต่ำลงและเก็บตามเวลาที่ได้วางไว้ สนับสนุนการค้าพาณิชย์ และชาวอียิปต์ที่นับถือศาสนาคริสเตียนก็ได้รับการปฏิบัติอย่างเมตตาปราณี ตามที่กล่าวกันว่าหอสมุดอันมีชื่อเสียงของเมืองอเล็กซานเดรียถูกเผาในทันทีที่ท่านอุมัรมาถึงนั้น นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงสองคนคือ กิบบอน (Gibbon)และมัวร์(Muir) มีความเห็นว่ามันถูกเผามานานแล้วก่อนที่มุสลิมจะยึดเมืองได้เสียอีก เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใส่ร้ายมุสลิม
ผลที่ได้จากการพิชิตเปอร์เชียและโรมัน
การพิชิตเปอร์เชียและโรมัน ได้นั้นมีผลต่อประวัติศาสตร์อิสลามเป็นอย่างมาก ชัยชนะที่มุสลิมมีต่อเปอร์เชียก็คือ ชัยชนะของชนชาวเซมิติคที่มีต่อชาวอารยัน อำนาจของชาติที่ยิ่งใหญ่สองชาติถูกบดขยี้ ในขณะที่อำนาจของมุสลิมเริ่มเพิ่มขึ้น การพิชิตอาณาจักรโรมันทำให้มุสลิมได้มีทางติดต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ บัดนี้มุสลิมจึงมองเห็นความสำคัญของการสร้างทัพเรือขึ้น ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า การพิชิตอาณาจักรโรมันเป็นต้นเหตุให้มุสลิมมีกองทัพเรือ
เมื่อพิชิตเปอร์เชียและโรมได้แล้ว อาณาจักรมุสลิมก็แผ่ขยายกว้างขวางขึ้นมาก ได้กลายเป็นเจ้าของประเทศอันอุดมสมบูรณ์สองประเทศ และสภาพเศรษฐกิจของมุสลิมก็ดีขึ้นจนสามารถพึ่งตัวเองได้ เมื่อพ้นจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจพวกเขาก็อุทิศเวลาให้แก่เรื่องวัฒนธรรมและเรื่องอื่นๆ นอกจากนั้นทรัพยากรอันมีอย่างเหลือเฟือของสองประเทศนี้ยังให้กำลังใจแก่มุสลิมที่จะขยายอำนาจของตนไปจนถึงแม่น้ำสินธุ(Indus)ด้วย ด้วยการติดต่อกับชาติที่ตกอยู่ใต้อำนาจชนชาวมุสลิมจึงได้เรียนรู้เทคนิคการทหารอย่างมากมายจากชาติเหล่านั้น และนำมาใช้ในกาลต่อมา ในสมัยนั้นทั้งชาวเปอร์เชียและโรมันกำลังมีอำนาจและความเจริญสูงสุด ในด้านวัฒนธรรมและอารยธรรมเล่าทั้งสองประเทศก็เป็นเอกหาตัวจับได้ยาก ดังนั้เมื่อพิชิตสองประเทศนี้ได้แล้วชาวมุสลิมจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอารยธรรมเปอร์เชียและเฮลนนิค และเพราะความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดนี่เองมุสลิมในสมัยต่อมาจึงมีบทบาทสำคัญในโลกแห่งความรู้และสติปัญญา กริยามารยาทและระเบียบทางสังคมของเปอร์เชีย ขนบธรรมเนียมและลักษณะของเปอร์เชียได้ถูกนำเข้ามาในสังคมของชาวอาหรับ แต่ชาวมุสลิมก็มิได้เป็นแต่ฝ่ายรับเอาแต่เพียงอย่างเดียว พวกเขาก็ได้หลายสิ่งหลายอย่างจากมุสลิมด้วย ชาวไร่ชาวนาที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ภายใต้การเก็บภาษีอย่างขูดรีดของกษัตริย์เปอร์เชีย ก็คลายทุกข์เมื่อมาอยู่ใต้การปกครองของมุสลิม การค้าการอุตสาหกรรมการเกษตรต่างก็ได้รับการสนับสนุนอย่างมากมายจากผู้ปกครองมุสลิม
แต่การพิชิตเปอร์เชียและโรมนี้ก็หาได้เป็นผลดีแก่มุสลิมแต่อย่างเดียวไม่ แบบอย่างชีวิตอันเลวทรามและฟุ่มเฟือยของชาติที่ถูกพิชิตนี้ได้แทรกซึมเข้ามาในสังคมมุสลิม เป็นผลให้แบบอย่างชีวิตแบบง่ายๆของชาวอาหรับสูญหายไปและมุสลิมก็ตกต่ำลง นิสัยไม่ดีเหล่านี้นี่เองที่จะทำให้มุสลิมหายนะในอนาคต
สาเหตุที่ทำให้มุสลิมได้รับชัยขนะ
ความสำเร็จในการพิชิตเปอร์เชียและโรมของมุสลิมนั้น ส่วนใหญ่เนื่องมาจากความกระตือรือร้นในศาสนาของพวกเขานั่นเอง พวกเขาต่อสู้เพื่ออิสลามอย่างเต็มความสามารถและพร้อมที่จะตายอยู่ทุกขณะ เพราะถือว่าการตายเพื่อศาสนาคือเกียรติอันสูงสุดและจะได้รับรางวัลในโลกหน้า ดังนั้นพวกเขาจึงชอบที่จะตายในการต่อสู้เพื่อประเทศ(อิสลาม)มากกว่าจะต้องเสียเกียรติตกอยู่ในกำมือศัตรู ในขณะที่ศัตรูของพวกเขาไม่มีความคิดเช่นนี้ ชาวอาหรับมีจิตใจเอนเอียงไปในทางชาตินิยมซึ่งสิ่งนี้เป็นเครื่องกระตุ้นอย่างดีที่จะทำให้เขาพยายามเอาชนะศัตรูให้ได้ ในระยะนั้นอารเบียมีทหารและนายทัพที่กล้าหาญชาญชัยและเฉลียวฉลาดมากมาย เป็นผู้มีสายตายาวไกลและมีความชำนาญทางด้านการทหาร เทคนิคการทหารของมุสลิมก็เหนือกว่าของชาวเปอร์เชียและโรมซึ่งไม่มีความชำนาญในเรื่องทหารม้าและทหารอูฐ นอกจากนั้นความเสื่อมโทรมภายในของอาณาจักรทั้งสองนี้ก็ได้ช่วยให้มุสลิมเอาชนะได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ชีวิตอันฟุ่มเฟือย ทุจริต คดโกง และความกดขี่การต่อสู้ทางศาสนา และความอ่อนแอทางการทหารได้ทำให้กำลังของพวกเขาอ่อนแอลงก่อนที่จะมีเรื่องขัดแย้งกับชาวอาหรับ ยิ่งกว่านั้นชาติทั้งสองนี้ต่อสู้ก็เพื่อศักดิ์ศรีและอำนาจของตน ส่วนชาวมุสลิมนั้นต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเองถ้าพวกเขาพ่ายแพ้ก็หมายถึงความพินาศของพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงต่อสู้อย่างสุดความสามารถเหล่านี้แหละคือสาเหตุที่ทำให้มุสลิมได้ชัยชนะฝ่ายศัตรู
การบริหารประเทศของท่านอุมัรที่ 1
ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์ในระยะ 10 ปีนั้นท่านอุมัรที่ 1 ไม่เพียงแต่สามารถพิชิตอาณาจักรอันกว้างใหญ่ได้เท่านั้นแต่ท่านยังได้ผนวกดินแดนเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ด้วยระบบการบริหารอันดียิ่งอีกด้วย ท่านเป็นตัวอย่างของนักบริหารที่ดีสำหรับนักปกครองมุสลิมตลอดประวัติศาสตร์อิสลาม ท่านสร้างรัฐธรรมนูญของประเทศขึ้นมาบนรากฐานแห่งประชาธิปไตย เมล็ดพืชแห่งประชาธิปไตยที่ท่านอบูบักรได้หว่านไว้ ได้ผลิดอกออกผลและเจริญถึงจุดสูงสุดในสมัยของท่านอุมัรนี่เอง ท่านได้จัดให้มีคณะที่ปรึกษา สองคณะด้วยกัน ซึ่งเรียกว่าชูรอ หรือสภาที่ปรึกษา ท่านจะขอความปรึกษาจากชูรอนี้ในทุก ๆ เรื่อง ท่านอุมัรตั้งใจที่จะทำให้อารเบียเป็นรัฐมุสลิมอย่างแท้จริง ในเรื่องความไม่เป็นมิตรของพวกที่ไม่ใช่มุสลิมท่านได้เสนอทางเลือกแก่ชาวยิวแห่งเมืองค็อยบัรและชาวคริสเตียนแห่งนัจญ์รอนว่าพวกเขาจะเลือกอยู่ในอารเบียโดยไม่ก้าวก่ายกับเรื่องของรัฐ หรือว่าจะเลือกอพยพโยกย้าย นโยบายที่สำคัญข้อที่สองของท่านอุมัรก็คือ รักษาความเด็ดเดี่ยวทางด้านการทหารของชาวอาหรับเอาไว้ ฉนั้นท่านจึงไม่อนุญาติให้ทหารเหล่านั้นเป็นเจ้าของที่ดินในดินแดนที่ถูกยึดครองได้ เพราะมันจะทำให้ความกล้าหาญของทหารลดน้อยลง ท่านยังสั่งไม่ให้ทหารเหล่านั้นพักอาศัยอยู่กับคนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมือง และสั่งให้พวกเขาอยู่แต่ในค่ายพักของทหารเท่านั้น
ท่านอุมัรที่ 1 เป็นผู้สร้างระบบบริหารแผ่นดินของอิสลาม เพื่อความสะดวกในการบริหารท่านได้แบ่งอาณาจักรทั้งหมดออกเป็นแคว้น แต่ละแคว้นมอบให้อยู่ในการปกครองของผู้ครองแคว้นที่มีความสามารถ แคว้นสำคัญๆก็มี มักกะฮ์ มะดีนะฮ์ ญะซีเราะฮ์ บัศเราะฮ์ คูฟะฮ์ อียิปต์และปาเลสไตน์ ผู้ครองแคว้นเรียกว่าวะลี หรืออมีร วะลีมิใช่เพียงแต่เป็นผู้ปกครองแคว้นเท่านั้น แต่ยังเป็นประมุขทางด้านศาสนาและการทหารอีกด้วย รับผิดชอบในเรื่องการบริหารโดยตรงต่อท่านเคาะลีฟะฮ์ แคว้นถูกแบ่งออกเป็นจังหวัด หัวหน้าจังหวัดเรียกว่าอมิล เคาะลีฟะฮ์คอยสอดส่องดูแลการทำงานของหัวหน้าจังหวัดโดยความช่วยเหลือของสายลับ ท่านอุมัรเอาใจใส่ในการเกษตรและสวัสดิภาพของเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้ออกกฏหมายห้ามมิให้ชาวอาหรับมีที่ดินในดินแดนที่ถูกยึดครอง หลังจากทำการสำรวจที่ดินอย่างเหมาะสมแล้วก็ได้มีการประเมินค่าที่ดินเพื่อกำหนดภาษี มีการขุดคลอง และจัดตั้งกำลังตำรวจ
ท่านอุมัร ที่ 1 เป็นผู้นำเอาระบบศักราชฮิจเราะฮ์มาใช้ และยังนำเอาระบบการให้เงินบำนาญแก่ผู้สูงอายุมาใช้ด้วย ท่านได้อนุมัติเงินจากกองคลังสาธารณะเพื่อช่วยเหลือผู้อ่อนแอและผู้พิการ ท่านได้สร้างโรงเรียนและมัสยิดในส่วนต่างๆของประเทศ ท่านได้จัดตั้งแผนกการเงินขึ้นในนามว่า ดีวาน เพื่อรับหน้าที่บริหารเงินรายได้ของส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ดีวานนี้ต้องดูแลการจ่ายเงินรายได้ของอาณาจักร รายได้ส่วนใหญ่ของอาณาจักรมาจากภาษีรัชชูปการ (Jizya) ภาษีช่วยคนยากจน (Zakat) ภาษีที่ดิน ทรัพย์สินจากสงคราม และรายได้จากดินแดนที่ยึดครอง นอกจากภาษีเหล่านี้แล้วท่านอุมัรยังได้เรียกเก็บภาษีแบบใหม่อีกด้วย เช่นภาษีหนึ่งในสิบของผลิตผลที่ผลิตได้จากที่ดินใหญ่ๆ ภาษีการค้าซึ่งเรียกจากพ่อค้าต่างชาติที่มิใช่มุสลิม และซะกาตที่เก็บจากผู้มีม้าเป็นต้น หลังจากหักค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารทั่วไปและสำหรับการสงครามแล้ว เงินที่เหลือก็แจกจ่ายไปในหมู่มุสลิมในสามประเภทนี้คือ ผู้ที่เป็นญาติกับท่านศาสดา ผู้ที่เปลี่ยนศาสนามารับอิสลามและผู้ที่รับใช้อิสลามด้วยการเป็นทหาร ด้วยหลักการนี้มุสลิมทั้งหญิงและชายจะได้รับเงินส่วนแบ่งและจะต้องลงทะเบียนไว้ที่ดีวาน ผู้ที่ได้รับเงินเป็นจำนวนมากที่สุดก็คือหญิงหม้ายและญาติสนิทของท่านศาสดา ต่อมาก็เป็นนักรบที่ทำการต่อสู้เพื่ออิสลาม ต่อไปก็คือผู้ที่เข้ารับอิสลามก่อนจะพิชิตมักกะฮ์ ต่อจากนั้นก็คือทหารธรรมดา แม้แต่ทาส ผู้หญิงและเด็กเกิดใหม่ก็ยังได้รับส่วนแบ่งของกองคลังบัยตุ้ลมาล(Bayt-al-Mal)นี้ด้วย ทางด้านการตัดสินความนั้นท่านได้มอบหน้าที่ให้แก่ผู้พิพากษา(Qazi) ซึ่งเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อผู้ครองแคว้นและได้รับเงินเดือนตามที่กำหนดไว้ ทางด้านทหารท่านอุมัรได้สร้างระเบียบวินัยอย่างดีให้แก่กองทัพ ตัวท่านเองเคยเป็นแม่ทัพที่มะดีนะฮ์ แต่โดยทั่วไปท่านมอบหน้าที่ให้แก่แม่ทัพอื่นๆ กองทัพของท่านแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ทหารม้าและทหารราบ ท่านเอาใจใส่ต่อสวัสดิ์ภาพของทหารเป็นอย่างมาก แต่สำหรับทหารที่ละทิ้งหน้าที่ท่านก็ลงโทษอย่างหนัก
ลักษณะของท่านอุมัร
ท่านอุมัรเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอิสลาม ความสามารถในการเอาชนะศัตรู และการบริหารที่เป็นประโยชน์ของท่าน ได้สร้างศักราชใหม่ขึ้นในประวัติศาสตร์อิสลาม ท่านต้องทุ่มเทกำลังในการต่อสู้กับชาวโรมันและชาวเปอร์เชีย ซึ่งจะพยายามทำลายรัฐอิสลามซึ่งเพิ่งเกิด เพราะความเฉลียวฉลาดและความสามารถของท่าน อาณาจักรโรมัน เปอร์เชียและอียิปต์ จึงตกมาเป็นของมุสลิม ท่านมิได้เพียงแต่รวมดินแดนที่พิชิตได้เข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังได้สร้างระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพให้แก่รัฐอีกด้วย นับได้ว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิดระบบการบริหารแผ่นดินที่แท้จริงของอิสลาม ท่านได้บังคับใช้กฏหมายชะรีอะฮ์ จัดตั้งกำลังตำรวจ นำเอาการสำรวจประชากรมาใช้ นำระบบการเงินส่วนแบ่ง และเริ่มใช้ศักราชฮิจเราะฮ์มาใช้ สร้างป้อมปราการตามชายแดน สร้างแผนการเงินของรัฐ ปรับปรุงการเกษตรและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น สนับสนุนการศึกษาของสตรี ท่านเป็นผู้เหมาะสมเป็นพิเศษที่จะเป็นหัวหน้าของชาวอาหรับที่ปกครองยาก ท่านคอยปกป้องประชาชนของท่านให้พ้นจากอันตรายทุกอย่าง เพื่อความปลอดภัยของอารเบียท่านได้ขอให้พวกยิวแห่งค็อยบัรและพวกคริสเตียนแห่งนัจญ์รอนออกไปจากดินแดนอารเบีย
ท่านเป็นคนที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย ขยันขันแข็งแต่ยุติธรรม ท่านอยู่อย่างคนธรรมดาโดยไม่มีองค์รักษ์คุ้มครอง และไม่ได้อยู่ในวังใหญ่โตอะไร ท่านมีจิตใจเมตตาเห็นใจคนยากจน คอยช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยอาหารและเงิน ในระหว่างที่เกิดข้าวยากหมากแพงนั้นท่านแบกกระสอบข้าวสารเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่คนที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยตัวท่านเอง แต่ในเรื่องการพิพากษาความแล้วท่านเข้มงวดมาก ไม่มีใครหนีกฏหมายแห่งความยุติธรรมไปได้ ท่านไม่เคยมีความลำเอียงไม่ว่าคนจนคนรวย สำหรับท่านแล้วเท่าเทียมกันหมด ถ้าราษฏรร้องทุกข์เกี่ยวกับผู้ปกครองท่านก็ไม่ละเลยที่จะพิจารณาให้ ท่านได้อุทิศตนให้แก่อิสลามและรัฐอย่างไม่คิดถึงความเหนื่อยยาก
ท่านอุมัรที่ 1 สิ้นชีวิตลงด้วยน้ำมือของทาสชาวเปอร์เชียคนหนึ่งชื่อ อบูลุลุ ในปี ฮศ. 23 หรือ คศ.643 ในขณะทำการละหมาดอยู่ในมัสยิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น