มุอาวิยะฮ์(Mu awiyah)
ลักษณะพิเศษของสมัยอุมัยยะฮ์
การเข้าครอบครองอาณาจักรอิสลามของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ไม่ได้หมายถึงแค่การเปลี่ยนราชวงศ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนหลักการและกำเนิดขององค์ประกอบใหม่ๆ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากมายต่อชะตากรรมของอาณาจักรอิสลามและพัฒนาการของประเทศอีกด้วย ดังจะเห็นได้คือในสมัยของคอลีฟะฮ์ทั้งสี่ ตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ถูกเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากในเมืองมะดีนะฮ์ และชาวอาหรับนอกเมืองมะดีนะฮ์ก็เคารพต่อการเลือกตั้งนั้นด้วย แต่ในสมัยมุอาวิยะฮ์เป็นต้นมา กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นผู้แต่งตั้งผู้สืบต่อโดยท่านเอง และผู้ได้รับแต่งตั้งก็ทำสัตย์สาบานต่อหน้าท่าน ระบบการแต่งตั้งนี้เป็นการถอนรากถอนโคนลักษณะแบบสาธารณรัฐของอิสลามเสียสิ้น ในสมัยเคาะลีฟะฮ์ทั้งสี่บัยตุลมาลหรือกองคลัง สาธารณะเป็นสมบัติของประชาชน ประชาชนทุกคนในอาณาจักรมีสิทธิ์ในเงินนี้เท่าๆกัน แต่ทว่านับตั้งแต่สมัยมุอาวิยะฮ์มา กองคลังนี้ได้กลายเป็นสมบัติของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ เคาะลีฟะฮ์ทุกท่านในราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ถือว่าบัยตุลมาลเป็นสมบัติส่วนตัวของตนและใช้จ่ายเงินทองในนั้นตามความประสงค์ของท่านเว้นแต่ อุมัรบินอับดุลอาซีซเท่านั้น
ในสมัยเคาะลีฟะฮ์สี่ท่าน เคาะลีฟะฮ์มีสภาอาวุโสเป็นผู้ช่วย เรื่องราวที่สำคัญทั้งหลายได้รับการอภิปรายปรึกษาหารือกันอย่างเปิดเผย คนธรรมดาสามัญก็มีเสียงในการปกครองนั้นด้วย ลักษณะสำคัญที่สุดของสมัยนั้นก็คือมีการคิดอย่างอิสระ และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลได้อย่างเสรี แต่ในสมัยอุมัยยะฮ์สภาอาวุโสได้ถูกล้มเลิกไปและไม่ยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลได้โดยเสรีอีกต่อไป
ในสมัยสาธารณรัฐอิสลาม คำสั่งสอนของท่านศาสดาได้กวาดล้างความอิจฉาริษยาระหว่างเผ่าพันธ์ออกไป ถึงแม้จะยังมีอยู่มันก็ถูกหักห้ามไว้ แต่ในสมัยอุมัยยะฮ์ได้มีการรื้อฟื้นความเป็นปรปักษ์ระหว่างเผ่าขึ้นมาใหม่เพื่อผลประโยชน์ของราชวงศ์นั่นเอง ความอิจฉาริษยาระหว่างพวกมุฏอรีย์(Mudarith)กับพวกฮิมยะรีย์(Himyarith) ซึ่งเกือบจะหมดไปแล้วในสมัยสาธารณรัฐอิสลามได้ทำให้กำลังของอิสลามอ่อนแอลง และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการโค่นล้มราชวงศ์อุมัยยะฮ์ในตอนหลัง
เคาะลีฟะฮ์ทั้งสี่ทำตัวให้ราษฏร์แม้ที่ต่ำต้อยที่สุดก็เข้าถึงได้ ท่านมักจะออกมาเดินเที่ยวในยามกลางคืนเพื่อดูสภาพของประชาชนโดยไม่มีองค์รักษ์คุ้มครอง ท่านมีความเป็นอยู่ตามหลักการของอิสลาม ไม่เคยมีราชวังใหญ่โตอยู่ ตรงกันข้ามกับเคาะลีฟะฮ์ในสมัยอุมัยะฮ์ ซึ่งจะอยู่ในปราสาทราชวังและมีทหารองค์รักษ์ การดื่มสุรา การพนัน การแข่งม้า ฯลฯ ถูกนำมาในสังคม จึงนับได้ว่าศักราชใหม่ในประวัติศาสตร์ของอิสลามได้มาถึงพร้อมกับการเข้าครองของราชวงศ์อุมัยยะฮ์
ชีวิตในตอนต้นของมุอาวิยะฮ์
มุอาวิยะฮ์เป็นบุตรชายของอบูซุฟยาน ซึ่งเป็นหัวหน้าของตระกูลกุร็อยช์ และเคยเป็นศัตรูที่น่ากลัวของท่านศาสดามาช้านาน เมื่อท่านศาสดายึดมักกะฮ์ได้ ตัวเขาพร้อมบิดาและสมาชิกคนอื่นๆของเผ่าบนูอุมัยยะฮ์ก็เข้ารับอิสลาม และอุทิศตนให้แก่การทำประโยชน์เพื่ออิสลาม ท่านศาสดาได้แต่งตั้งให้เขาเป็นเลขานุการส่วนตัวของท่าน และได้ยกน้องสาวของท่านคือ อุมมุฮะบีบะฮ์ ให้แต่งงานกับเขา
งานทางด้านการเมืองของมุอาวิยะฮ์ เริ่มขึ้นในสมัยท่านอุมัร หลังจากที่น้องชายของเขาคือ ยะซีด บีน อบูซุฟยาน สิ้นชีวิตลงในการสู้รบที่ยัรมูก มุอาวิยะฮ์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ครองจังหวัดหนึ่งในซีเรีย ด้วยการทำงานหนักและการบริหารได้ผลดีของเขา ในไม่ช้าท่านอุมัรก็ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้ครองแคว้นซีเรียทั้งแคว้น เมื่อท่านอุษมานขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์ เขาก็ยังคงดำรงตำแหน่งนั้นอยู่ ในระยะนั้นเขาพยายามขยายเขตแดนของอาณาจักรอิสลามออกไปเหนืออาณาจักรไบแซนไตน์ ในสมัยท่านอาลีเป็นเคาะลีฟะฮ์ เขาต้องต่อสู้กับท่านเพื่อรักษาตำแหน่งของเขาไว้ อาจจะเป็นระยะนั้นก็ได้ที่ความคิดอยากจะเป็นเคาะลีฟะฮ์เสียเองได้ผุดขึ้นมาในใจของมุอาวิยะฮ์ เมื่อท่านฮาซันได้สละตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ มุอาวิยะฮ์ก็กลายเป็นเคาะลีฟะฮ์ของอิสลามแทน
ในสมัยที่เป็นเคาะลีฟะฮ์
เมื่อได้ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์แล้ว มุอาวิยะฮ์ก็ได้อุทิศตนให้แก่การทำให้อาณาจักรอิสลามผนึกเข้าเป็นปึกแผ่น ตั้งแต่ท่านเคาะลีฟะฮ์อุษมานถูกฆ่าตาย ความสามัคคีในอาณาจักรก็แตกสลายและประเทศก็ไร้ความสงบสุข ในตอนแรกมุอาวิยะฮ์ได้ย้ายเมืองหลวงจากคูฟะฮ์ไปอยู่ที่ดามัสกัส เพื่อความสะดวกของท่านเอง พวกคอริญีย์ ฮิมยะรีย์ และมุฏอรีย์ เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นในอาณาจักรเนืองๆ ท่านจึงปราบปรามอำนาจของพวกคอริญีย์ลง แล้วก็หันไปเอาใจใส่ต่อพวกฮิมยะรีย์และมุฏอรีย์
ในสมัยท่านศาสดามีประชาชนกลุ่มต่างๆในอารเบียที่อ้างว่าตนสืบเชื้อสายมาจากอิสมาอีลบุตรชายของอิบรอฮีม คนเหล่านี้แต่เดิมอาศัยอยู่ในยะมัน จึงถูกเรียกว่ายะมานีย์ พวกกอฮฺตานีย์นั้นในสมัยต่อมาถูกถือว่าเป็นพวกฮิมยะรีย์ซึ่งมาจากฮิมัร (Himur) ผู้เป็นบุตรชายคนหนึ่งของอับดุชชัมส์ พวกอิสมาอีรียะฮ์ อาศัยอยู่ในแคว้นหิยาซ บางทีก็ถูกเรียกว่าเผ่าบนูมะอาดซึ่งมาจากมูดัร หลานปู่ของมะอาด พวกบนูกุร็อยช์ บนูกัยส์ บนูบักร์ บนูตัฆลิบ และบนูตะมีม ต่างก็เป็นสาขาย่อยของคนเผ่านี้ พวกฮิมยะรีย์เป็นพวกที่มีอารยธรรมสูง ในขณะที่พวกมุฏอรีย์เป็นพวกเร่ร่อนและมีอาชีพในทางเลี้ยงสัตว์ สองเผ่านี้เป็นปรปักษ์กันมานานก่อนท่านศาสดาเกิด คำสอนของท่านศาสดาได้ลบล้างความเป็นปรปักษ์นี้ออกไป และท่านเคาะลีฟะฮ์อุมัรก็ได้ปรับปรุงให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองเผ่านี้ดีขึ้น แต่เมื่อมาถึงสมัยมุอาวิยะฮ์ พวกเขากลับทะเลาะวิวาทกันใหม่และเคาะลีฟะฮ์ก็เป็นฝ่ายกระพือความเป็นศัตรูกันขึ้นด้วย เพื่อประโยชน์ของท่านเอง ท่านมีนโยบายที่จะให้คนสองเผ่านี้คานอำนาจกันไว้จึงไม่ยอมให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตกอยู่ใต้อีกฝ่ายหนึ่งได้
มุอาวิยะฮ์ได้ทรงแต่งตั้งผู้บริหารแผ่นดินที่มีความสามารถให้ช่วยปราบปรามผู้ที่ก่อความเดือดร้อนขึ้น และได้ขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง มุอาวิยะฮ์เอาชัยชนะต่อท่านอาลี และในที่สุดก็ได้สร้างราชวงศ์ขึ้นใหม่ได้ ก็เพราะอัมร์ บิน อาส ผู้ตีอียิปต์ได้และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ครองนครอียิปต์มาจนกระทั่งท่านสิ้นชีวิตนั่นเอง
ชัยชนะของมุอาวิยะฮ์
เมื่อตั้งตัวได้สำเร็จแล้ว มุอาวิยะฮ์ก็หาทางพิชิตดินแดนอื่นๆต่อไป การพิชิตแอฟริกาเหนือนับเป็นเหตุการณ์สำคัญในสมัยของท่าน เนื่องจากในตอนต้นสมัยของท่าน อัมร์ บิน อาสผู้ปกครองอียิปต์ได้รับความเดือดร้อนจากพวกโรมันอย่างมาก จึงส่งแม่ทัพของเขาซึ่งชื่ออุกบะฮ์ ไปยังแอฟริกาเหนือ ได้ทำการต่อสู้กับพวกโรมันอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดก็เอาชนะพวกโรมันได้และได้เข้าครองแอฟริกาเหนือ เขาได้สร้างเมืองก็อยรอวาน(Kairawan) ขึ้นทางใต้ของตูนิสเมื่อฮศ.50หรือคศ.670 และสร้างป้อมปราการขึ้นในเมืองนั้นอย่างแข็งแรง เพื่อป้องการโจมตีของพวกเบอร์เบอร์(Berber) ต่อมาเมืองนี้ได้เป็นเมืองหลวงของแอฟริกาเหนือ
แต่ต่อมาอีกสามปี กองทัพโรมันได้เข้าสมทบกับกองทัพเบอร์เบอร์มาโจมตีอุกบะฮ์ อุกบะฮ์พ่ายแพ้และเสียชีวิตในสนามรบ เมืองก็อยรอวานจึงตกไปอยู่ในมือของเบอร์เบอร์อีก
ความทะเยอทะยานอีกอย่างหนึ่งของมุอาวิยะฮ์ก็คือ ต้องการพิชิตเมืองคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นเมืองหลวงของไบแซนไตน์ให้ได้ ท่านจึงส่งยะซิดโอรสของท่านไปตีคอนสแตนติโนเปิล แต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จ
มุอาวิยะฮ์เป็นท่านแรกที่สร้างกองทัพเรือมุสลิมขึ้น ในขณะที่ยังเป็นผู้ปกครองซีเรียอยู่นั้น ท่านได้ทรงสร้างเรือรบจำนวนเกือบ 500 ลำ ยกไปรบกับชาวกรีกที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และตีได้เกาะไซปรัส เกาะโรดส์ และเกาะอื่นๆของกรีกที่ใกล้ชายฝั่งเอเชียไมเนอร์
มุอาวิยะฮ์ขยายดินแดนไปทางทิศตะวันออกอย่างกว้างขวาง เฮรัตซึ่งแข็งข้อขึ้นก็ถูกตีได้เมื่อฮศ.41 หรือคศ.661 อีกสองปีต่อมาก็ตีกาบูล(Kabul)ได้ ฆ็อซนะฮ์ บัลค์ กอนดาฮัร บุคอรอ สะมัรก็อนด์และติรมิดฮ์ ก็ถูกผนวกเข้าในสมัยของมุอาวิยะฮ์
อาณาจักรอิสลามไม่เพียงแต่รวมกำลังอย่างมั่นคงเท่านั้น แต่ยังขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางด้วย
มุอาวิยะฮ์ในฐานะกษัตริย์
มุอาวิยะฮ์เป็นท่านแรกที่เปลี่ยนสาธารณรัฐเป็นราชอาณาจักร ท่านทำให้ตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์กลายเป็นตำแหน่งกษัตริย์โดยการสืบเชื้อสายราชวงศ์ ได้ทรงแต่งตั้งยะซิด โอรสให้เป็นกษัตริย์ ต่อมาในปี คศ.676 การแต่งตั้งแบบนี้ได้กลายเป็นตัวอย่างในการแต่งตั้งเคาะลีฟะฮ์ต่อมาตลอดราชวงศ์อุมัยยะฮ์ รวมทั้งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ และอื่นๆด้วย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้สร้างตำแหน่งกษัตริย์โดยการสืบสันติวงศ์ขึ้นในประวัติศาสตร์ของอิสลาม การปกครองแบบประชาธิปไตยระหว่างเผ่าของเคาะลีฟะฮ์ท่านก่อนๆก็หมดสิ้นไป กลายเป็นการปกครองแบบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งผู้สืบเชื้อสายต่อมาของท่านได้เปลี่ยนให้เป็นแบบรวมอำนาจของไบแซนไตน์หรือเปอร์เชีย ดูภายนอกมุอาวิยะฮ์ยังคงรักษารูปแบบและหน้าที่ของเคาะลีฟะฮ์ไว้ ท่านทรงนำละหมาดในวันศุกร์เช่นเดียวกับเคาะลีฟะฮ์ทั้งสี่เคยทำมา แต่กลับเก็บตัวห่างจากประชาชนคนสามัญชาวมุสลิม เลิกชีวิตแบบง่ายที่ประชาชนเข้าถึง วังของท่านก็มีทหารองค์รักษ์คอยเฝ้าอารักขา แลุะเมื่อปรากฏตัวในที่สาธารณะก็มีองค์รักษคอยคุ้มกัน ท่านถือว่ากองคลังสาธารณะคือสมบัติของท่านเอง ทรงแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่ต้องปรึกษาหารือกับสภาอาวุโส จึงนับว่าท่านทรงประพฤติตัวห่างไกลจากแบบอย่างประชาธิปไตยของสาธารณรัฐแต่เดิมมา
มุอาวิยะฮ์เป็นผู้บริหารที่ดี ทรงเป็นท่านแรกที่จัดตั้งกรมสารบรรณ(Diwan al Khatam) และกรมไปรษณีย์(Diwan al Barid)ขึ้น จัดตั้งกองตำรวจ (as-Shurta) ทรงแยกการบริหารด้านอาชญากรรมออกจากด้านการเงิน ทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองให้ทำการบริหารส่วนท้องถิ่น และตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษ(Shahib ul Khara)ให้เป็นผู้บริหารเงินรายได้ของแผ่นดิน ทรงตั้งมาตราการที่คล้ายกับภาษีรายได้ในปัจจุบันนี้ขึ้น ซึ่งทรงหักภาษีซะกาตออกไปจากภาษีที่เก็บได้นั้นโดยกำหนดจำนวนเงินตายตัวไว้เป็นรายปี
มุอาวิยะฮ์สิ้นชีพในเดือนเมษายน คศ.680 เมื่ออายุได้ 75 ปี หลังจากที่ครองราชมาอย่างรุ่งเรืองเป็นเวลานาน
ในระหว่างเวลา 19 ปี ของรัชสมัยของท่าน ได้ทรงทำสงครามกับชาวโรมันอยู่ช้านานทั้งบนบกและทะเล ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ใช่ทหารที่ดีนักแต่ก็ไม่ด้อยกว่าใครในสมัยนั้นในเรื่องการจัดการด้านทหาร ทรงจัดตั้งรัฐบาลที่มีการควบคุมที่ดี ทำให้สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่มีระเบียบ ความสำเร็จของมุอาวิยะฮ์ทำให้ท่านทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งในโลกมุสลิม
ในฐานะรัฐบุรุษ มุอาวิยะฮ์รักษาไว้ซึ่งความสมดุลย์ระหว่างชาวอาหรับภาคเหนือและอาหรับภาคใต้ ความปรารถนาของท่านก็คือจะสร้างราชวงศ์ขึ้นมา และเมื่อความปรารถนานี้สัมฤทธิผลโดยทรงแต่งตั้งยะซิด โอรสของท่านให้เป็นรัชทายาทได้แล้ว ก็ทรงหันมาสนใจในเรื่องทำนุบำรุงรัฐ ในฐานะของกษัตริย์ท่านทรงเป็นกษัตริย์ที่โอบอ้อมอารีย์และเข้มงวดต่อผู้ไร้ระเบียบ แต่เมตตาปราณีต่อคนยากจนคนอ่อนแอ ชาวคริสเตียนมีควมสุขอยู่ภายใต้การปกครองของท่าน ท่านทรงแต่งตั้งคนคริสเตียนให้ดำรงตำแหน่งสูงๆในงานของรัฐ หัวหน้าที่ปรึกษาคนหนึ่งของท่านก็เป็นคนคริสเตียน ทรงบูรณะโบสถ์ อีเดซซา ซึ่งถูกแผ่นดินไหวพังทะลายขึ้นใหม่ ทรงทะนุบำรุงการค้าและการอุตสาหกรรม ดังนั้นทั่วราชอาณาจักรจึงมีความสงบสุขและรุ่งเรือง นับได้ว่ามิใช่เป็นแต่เพียงกษัตริย์ท่านแรกของมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นกษัตริย์ที่ดีที่สุดด้วย ถึงแม้ว่าท่านจะทรงใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายและหรูหราก็ตาม แต่ความหรูหรานั้นก็ไม่ได้ขัดขวางการปกครองที่สามารถของท่าน
แล้วในปี (63-74) ในช่วงนี้ใครเป็นผู้ครองราชครับ ช่วยกระจ่างผมด้วยครับ
ตอบลบมุอาวียะที่ 2 อิบนิยาซีด ปี 63-63
ลบต่อมา มัรวาน อิบนิ อัลฮากัม ปี 64-65
ต่อมา อับดุลมาลิก อิบนิ มัรวาน ปี 65-86
มีอ้างอิงด้วยจะดีมาก
ตอบลบเข้ามาอ่านเพราะ ตั้งชื่อลูกชายว่า มุอาวียะห์
ตอบลบ