วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

สงครามครูเสด

นับตั้งแต่อาณาจักรอิสลามได้ถูกสร้างขึ้น พวกคริสเตียนก็ได้รับสิทธิ์และความสะดวกสบายต่างๆนานา พวกเขามีสิทธิ์ที่จะเลือกนับถือศาสนาได้ตามใจชอบและมีโอกาสได้เข้าทำงานในที่ทำงานของรัฐได้เท่าเทียมกับชาวมุสลิม ชาวมุสลิมถือว่ากรุงเยรูซาเล็มเป็นนครอันศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อปาเลสไตน์และซีเรียตกเป็นของมุสลิม ชาวคริสเตียนก็ยิ่งได้รับสิทธิ์ต่างๆมากกว่าพวกมุสลิมนิกายซุนนีด้วยซ้ำ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฟาติมียะฮ์ในอียิปต์ ผู้ปกครองได้สนับสนุนการค้าของชาวคริสเตียนและอุปถัมภ์ชาวคริเตียนเป็นอย่างมาก แต่ไมตรีอันดีงามทั้งหมดนี้ ยังไม่สามารถทำให้ชาวคริสเตียนญาติดีกับมุสลิมได้ เพราะพวกเขามองดูการที่มุสลิมเข้าไปอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ
สาเหตุของสงครามครูเสด
กองทัพของชาวคริสเตียนที่ส่งมาปะทะกับชาวมุสลิมในระหว่างคศ.1095 ถึง ค.ศ. 1273 นั้นโดยทั่วไปเรียกกันว่าสงครามครูเสด ที่เรียกดังนั้นก็เพราะแรงดันของมันมาจากความคลั่งศาสนานั่นเอง แต่ว่าสงครามนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากแรงดันทางด้านศาสนาหรือด้านจิตใจเท่านั้น แต่เพราะผลประโยชน์ส่วนตัวด้วย สาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามครูเสดขึ้นนั้นผมขอเพิ่มเติมดังนี้
ประการแรก สงครามครูเสดเป็นผลของความขัดแย้งกันเป็นเวลาช้านานระหว่างคริสจักรทางภาคตะวันตกกับอาณาจักรมุสลิมทางภาคตะวันออก ต่างฝ่ายต่างก็พยายามที่จะมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง ความขัดแย้งกันนี้มีลักษณะของสงครามครูเสดมาตั้งแต่สงครามครูเสดยังไม่เกิด ในศตวรรษที่ 11 ชาวคริสเตียนได้ส่งทหารมาปะทะมุสลิม เพราะว่าการที่อิสลามแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วนั้นก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นทั่วไปในหมู่ชาวคริสเตียนในยุโรป
ประการที่สอง ความกระตือรือร้นในการแสวงบุญของชาวคริสเตียนก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ในศตวรรษที่ 11 ความกระตือรือร้นในการไปแสวงบุญยังนครเยรูซาเล็มของชาวคริสเตียนมีมากกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะเดียวกันนั้นเยรูซาเล็มหรือปาเลสไตน์ได้ตกมาอยู่ในการปกครองของเตอรกี ผู้แสวงบุญของชาวคริสเตียนได้หลั่งไหลกันเข้าไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์นั้น แต่บางครั้งคนเหล่านั้นก็ถูกปล้นสดมภ์หรือได้รับการปฏิบัติไม่ดีบ้าง เช่นเดียวกับที่ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมได้รับอยู่ทุกวันนี้ ได้ถูกเสริมเติมแต่งให้ดูใหญ่โตขึ้นโดยผู้แสวงบุญและแพร่สพัดไปทั่วยุโรปเป็นเหตุให้โลกคริสเตียนลุกเป็นไฟขึ้น
ประการที่สาม ช่วงเวลาระหว่างนั้นเป็นเวลาที่ระส่ำระสายอยู่ทั่วไปในยุโรป พวกเจ้าขุนมูลนายและเจ้านายต่างๆ ต่างก็ต่อสู้ทำสงครามซึ่งกันและกัน การยกย่องความกล้าหาญและการเป็นนักรบได้ทำให้ประชาชนชาวคริสเตียนสมัครเข้าเป็นทหารกันมาก พวกสังฆราชได้ยุยงให้ประชาชนมีจิตใจฮึกเหิมเพื่อที่จะหันเหจิตใจของพวกขุนนางและเจ้าชายเหล่านั้นมิให้สู้รบกันเอง คริสจักรจึงยุยงให้พวกเขาหันมาต่อสู้กับชาวมุสลิมแทนโดยอ้างว่าจะได้บุญกุศล และเพื่อเอานครอันศักดิ์สิทธิ์คืนมา
ประการที่สี่ มุสลิมได้กลายเป็นเจ้าแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา การค้าพาณิชย์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจึงตกอยู่ในความควบคุมของชาวมุสลิมอย่างเต็มที่ พวกพ่อค้าต่างชาติโดยเฉพาะพ่อค้าจากเวณิช ปิซา และเยนัว ต่างก็มีผลประโยชน์ทางการค้าอยู่ในแถบนี้ แต่ถูกปิดกั้นเส้นทางเสียแล้ว ดังนั้นผลประโยชน์ทางการค้าจึงมีบทบาทสำคัญอยู่ในสงครามครูเสดด้วย
ประการที่ห้า คำร้องทุกข์ของอเล็กซิส คอมมินุส (Alexius Commaenus) ซึ่งดินแดนทางด้านทวีปเอเซียของเขาถูกพวกซิลญูกพิชิตไป สันตปาปาเออร์แบนที่ 2 (Uraba) และการกระทำของสันตปาปาผู้นี้เป็นสาเหตุที่ทำให้สงครามครูเสดระเบิดขึ้นในทันที นั่นคือสันตปปาปาผู้นี้ได้เรียกประชุมชาวคริสเตียนที่เมืองเลอมองค์ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ.1095 และรบเร้าให้ชาวคริสเตียนผู้มีศรัทธาทำสงครามกับชาวมุสลิม ความประสงค์ของท่านในเวลานั้นก็คือ ต้องการจะรวมคริสตจักรของกรีกมาไว้ใต้อิทธิพลของท่านด้วย ท่านได้สัญญาว่าผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้จะได้ยกเว้นจากบาปที่เคยทำมา และผู้ที่ตายในสงครามก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ภายในเวลาไม่นานก็รวบรวมผู้คนได้ถึง 150,000 คน ส่วนมากเป็นชาวแฟงค์ และนอร์แมน คนเหล่านี้ได้มาชุมนุมกันที่นครเยรูซาเล็ม
การสงคราม
กองทัพสงครามศาสนาของฝ่ายคริสเตียนกองแรก มีวอลเตอร์ผู้ยากไร้(Walter the Penniless) เป็นผู้นำ เริ่มทำการในปี ฮ.ศ.490 หรือ ค.ศ.1096 ปีเตอร์ผู้ได้ฉายานามว่า (Peter the Hermit) เป็นแม่ทัพของกองทัพที่สอง เดินทัพผ่านฮังการีและบุลกาเรียและทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า สุลฏอนแห่งเมืองนิส (Nice) ได้เข้าโจมตีกองทัพทั้งสองนี้ เรจินาลด์แม่ทัพคนหนึ่งกับเพื่อนฝูงบางคนของเขาได้เข้ารับอิสลาม
สงครามครูเสดเพื่อยึดครองแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ครั้งแรก
ปี ค.ศ. 1097 พวกครูเสดได้จัดกองทัพใหม่ โดยมีพวกเจ้าครองนครต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเข้าร่วมด้วย และมีกอดเฟรย์แห่งบุยยอง(Godfrey of Buillon) เป็นแม่ทัพเดินทางมาทางคอนสแตนติโนเปิ้ล กษัตริย์อเล็กซิสได้จัดให้พวกนี้ข้ามช่องแคบโฟรัสไปยังดินแดนเอเชียน้อย เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยให้เข้าเมือง บ้านเมืองจะถูกทำลาย
เดือนพฤษภาคม 1097 กองทัพครูเสดยกทัพมาเมืองนิซีอา สุลฏอนผู้ปกครองเมืองยอมเปิดประตูเมืองให้ จึงรอดพ้นจากการถูกทำลาย หลังจากนั้นพวกครูเสดจึงยกทัพไปเมืองอันติออก Antioch(อันตากิยะฮ) ซึ่งต้องเดินทางเป็นระยะทางที่ไกล พวกไพร่พลจึงล้มตายกลางทางเสียเป็นส่วนใหญ่ ล้อมเมืองอันติออกได้ 9 เดือน จนเสบียงเริ่มร่อยหรอลง ต้องกินเนื้อพวกเดียวกัน (คือเนื้อศพ) พวกครูเสดทำการทารุณกรรมต่อชาวเมืองอันติออกอย่างมาก ในที่สุดแม่ทัพพวกสัลยูก ที่ชื่อ กัรบุฆา ต้องยอมแพ้ เพราะว่ามีการทรยศจากพวกเดียวกันด้วย คือมุสลิมชาวอาร์มิเนียน ชื่อ ฟิรูซ(อาหรับเรียกว่าบิหรูซ) ได้หย่อนเชือกลงรับพวกครูเสดขึ้นมายึดป้อม แล้วเปิดประตูเมืองให้พวกครูเสดเข้ามาตะโกนว่า “Dier le veut” ฆ่าฟันผู้คนทั้งหญิงแก่ แม่หม้าย เด็ก หญิงสาว รวมทั้งทำลายมัสญิด อาคาร บ้านเรือนเสียหาย

หลังจากยึดเมืองอันติออกแล้ว พวกครูเสดได้เดินทัพไปยังมะอัรร็อต อัน-นุอมาน(Marra’ tun Numan) ซึ่งเป็นเมืองที่รุ่งเรืองเมืองหนึ่งของซีเรีย ชาวเมืองถูกฆ่าไม่ต่ำกว่า 100,000 คน โดยวิธีสับเป็นท่อน ๆ ซึ่งในกองทัพของพวกนี้มีเนื้อคนขายด้วย ส่วนคนที่แข็งแรงและหน้าตาดี จะถูกนำไปขายเป็นทาส

วันที่ 15 กรกฏาคม 1099 (ชะอบาน ฮ.ศ. 492) พวกนี้ก็ยกทัพเข้ากรุงเยรูซาเล็ม ให้ชาวเมืองคุกเข่าสวดอ้อนวอนพระเจ้าในความสำเร็จที่พวกครูเสดเข้ายึดเมืองได้ แล้วก็ฆ่าชาวเมืองอย่างทารุณ แม้แต่สถานที่ที่พระเยซูเคยอภัยศัตรูของพระองค์ ก็ไม่สามารถทำให้ครูเสดพวกนี้ลดความโหดเหี้ยมลงได้ เพราะพวกนี้ถือว่าการรบและฆ่าพวกนอกศาสนานั้นจะได้บุญและได้ขึ้นสวรรค์

พวกยิวในปาเลสไตน์ก็เผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกัน โบสถ์และวิหารก็ถูกเผาทำลาย กอดเฟรย์แห่งบุยยอง ได้ถูกสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งเยรูซาเล็ม หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีก็เสียชีวิตลง น้องชายชื่อบอลด์วินได้รับตำแหน่งแทน และได้ยกทัพไปตีเมืองซีสะรีอา(Caesarea) ตริโปลี ซีดอน บัยรุต และยึดเมืองท่าต่าง ๆ ที่พวกโฟนิเซียนเคยเป็นเจ้าของมาก่อน

พวกครูเสดได้ครองส่วนใหญ่ของอาณาจักรของพวกสัลยูก (แต่ไม่ขยายตัวไปในอาณาจักรมุสลิมวงศ์อื่น ๆ ) พวกนี้จึงได้นำลัทธิเจ้าครองนคร(ฟิวดัลลิส์ม) มาใช้ มุสลิมที่มีฐานะเป็นทาสจะถูกจำตรวนเดินตามถนน อาณาจักรของสัลยูกช่วงนี้อยู่ภายใต้การปกครองของพวกครูเสด จนถึง ปี ค.ศ. 1147 รวมเวลาประมาณ 50 กว่าปี

สงครามครูเสดครั้งที่สอง
ลัทธิเจ้าครองนคร (Feudalism) ฟิวดัลลิสม์ ที่พวกครูเสดนำมาใช้ในเอเชียน้อย ( Asia minor ) ได้เผยแพร่เข้าไปสู่พวกสัลยูกเช่นกัน พวกนี้ต่างแก่งแย่งชิงอำนาจกัน จนแตกออกเป็นหลายนคร พวกที่ลี้ภัยสงครามครูเสดได้หนีไปกรุงแบกแดดเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้นเป็นเดือนเราะมะฎอน เคาะลีฟะฮของแบกแดด ซื่อ มุสตะซิร บิลลาฮ ( ปกครองตั้งแต่ ปี ค.ศ.1094 ถึง ปี ค.ศ.1118) ส่งผู้แทนไปยังสุลฎอน เพื่อขอความช่วยเหลือจาก บัรกี ยารูก (คือพวกสัลยูก เป็นบุตรคนที่ 2 ของมาลิกชาฮ ซึ่งเป็นคนขี้เมา นำความเสื่อมมาสู่วงศ์สัลยูก ปกครองปี ค.ศ.1094 ถึง ปี ค.ศ.1140 ) เพื่อยกทัพไปปราบครูเสด แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ

ปี ค.ศ. 1108 พวกมุสลิมในเมืองตริโปลี ส่งผู้แทนมาขอความช่วยเหลืออีกแต่ก็ไม่ได้ผล หลังจากนั้นอีก 3 ปี ชาวเมืองอเลปโปส่งผู้แทนออกมาขอความช่วยเหลืออีก หนนี้พวกเขาเข้าไปในมัสญิดและเร่งรัดให้เคาะลีฟะฮ ส่งกองทัพไปช่วย ทางแบกแดดจึงส่งทหารไปจำนวนหนึ่ง แต่ถูกพวกครูเสดฆ่าตายหมด

สมัยเคาะลีฟะฮ (วงศ์อับบาสิยะฮ) แห่งกรุงแบกแดด จึงปล่อยให้พวกครูเสดปกครองปาเลสไตน์และเอเชียน้อยบางส่วน เพราะปัญหาความแตกแยกและไม่สามัคคีในหมู่พวกเดียวกันของมุสลิม

ต่อมาสมัยเคาะลีฟะฮ อัล-มุกตะฟี ( วงศ์อับบาสิยะฮ ปี ค.ศ.1136 – 1160 ) ชาวสัลยูกชื่อ อิมาดุดดิน ซังงี ( Imaduddin Zangi ) เป็นลูกชายของแม่ทัพสุลฏอนมาลิกซาฮ ชื่อ อักสังการ ฉายาว่า กอลิม อัดเดาละฮ เมื่ออักสังการเสียชีวิต ซังงีขณะนั้นอายุเพียง 14 ปีแต่มีความสามารถทางการทหารและการปกครองได้รวบรวมพล ฝึกทหาร และเข้าตีเมืองต่าง ๆ ใน ปี ค.ศ. 1128 ยึดเมืองอเลปโปคืนมาจากพวกครูเสดได้ ในขณะนั้นพวกครูเสดก็ได้รับการสนับสนุนจากยุโรปและกรีก โดยการนำของจักรพรรดิยอน คอมเนนุส ( John Comnenus) ยึดเมือง บุซาอะ ( Buzaa ) ฆ่าพวกผู้ชาย แล้วกวาดต้อนผู้หญิงและเด็กไปเป็นทาส

ซังงีได้ยกกองทัพมาช่วยต้านทัพพวกครูเสดไว้ได้ และยึดเมืองเอเดสสา ( Edessa ) หรืออัรรูหะฮได้เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1144 ตอนแรกซังงีคิดจะแก้แค้นให้พวกมุสลิมด้วยกัน แต่ก็ล้มเลิกความคิดและขอให้ชาวเมืองยอมแพ้ แต่กลับถูกพวกแฟรงค์เยาะเย้ย ถากถาง เขาจึงฆ่าทหารและพวกบาทหลวงที่เป็นตัวการในสงครามนี้ แต่ไว้ชีวิตผู้หญิง เด็ก และทรัพย์สินของพวกเขาเหล่านั้น แต่ในที่สุดแล้วเขาก็ถูกพวกเดียวกันหักหลังโดยการลอบฆ่า เมื่อวันที่ 5 เราะบีอุษษานีย 541 ตรงกับวันที่ 14 กันยายน ปี ค.ศ.1146

พวกสัลยูกได้สูญเสียนักรบชาติทหาร ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นคนที่มีใจกล้าหาญ ชอบศึกษาและเผยแพร่ความรู้ ซังงีมีบุตร 4 คน ล้วนมีความสามารถทั้งสิ้น ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ยุ่งยากนี้ พวกคริสต์ในเมืองเอเดสสาได้เกิดคิดกบฏขึ้น ฆ่าทหารมุสลิมที่รักษาเมือง ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากพวกแฟรงค์ ภายใต้การนำของโยสเซลิน ( Joscelin ) ยึดเมืองเอเดสสาได้ แต่บุตรคนที่ 2 ของซังงีชื่อนูรุดดีน มะหมูด ( Noradius ) สามารถตีคืนมาได้ พวกอาร์มิเนียนที่เป็นต้นคิดการก่อกบฏ ได้ถูกเนรเทศออกจากประเทศ ทหารพวกแฟรงค์ถูกฆ่าและนูรุดดีนสั่งให้รื้อกำแพงเมือง

การสูญเสียเมืองเอเดสสาครั้งที่ 2 นี้ก่อให้เกิดการปลุกระดมให้พวกคริสเตียนหันมาป้องกันสถานกำเนิดแห่งศาสนาของตนโดยนักบุญเซ็นต์เบอร์นาร์ด ที่ได้ฉายาว่า ปีเตอร์-นักพรต คนที่ 2 พวกกษัตริย์ก็เข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้ด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส ถือเอาสงครามครูเสดเป็นฉากบังหน้า เพื่อปิดบังซ่อนเร้นการกระทำอันโหดร้ายต่อพลเมืองที่เป็นกบฏต่อพระองค์ กษัตริย์คอนราดที่ 3 แห่งเยอรมันก็เข้าร่วมทัพด้วย ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1147 มเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ชื่อ อิเลเนอร์ ( Eleanor of Guienne) ซึ่งต่อมาได้สมรสกับพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 ของอังกฤษ ได้เข้าร่วมกองทัพด้วย ทำให้ผู้หญิงฝรั่งเศสจำนวนมากอาสาออกรบด้วยอย่างมากมาย แต่กองทัพของกษัตริย์ทั้ง 2 ได้รับการต่อต้านและเสียหายอย่างหนัก ส่วนหนึ่งของกองทัพของกษัตริย์คอนราดถูกทำลายที่เมืองลาฎิกียะฮ ( Laodicea หรือ Latakia ) ส่วนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ยกทัพมาทางทะเลถูกโจมตีที่เมืองคัดมุส (Cadmus ) พวกตุรกีเรียกว่า บาบาดาฆ พวกครูเสดนั้นมีกำลังพลมาก จึงรอดเหลือมาถึงเมืองอันติออก ขณะนั้นเรย์มอง( ลุงของราชินีอีเลเนอร์ )ปกครองอยู่ พวกขุนนาง อัศวินนักรบ และสตรีผู้สูงศักดิ์อื่น ๆพักอยู่ในเมืองจำนวนมาก พวกครูเสดจึงยกทัพเข้าล้อมเมือง ดามัสกัส แต่ไม่สำเร็จ เพราะนูรุดดีนและสัยฟุดดีน ฆอซี ( พี่ชายของนูรุดดีน ) ยกทัพมาช่วย กองทัพของกษัตริย์ทั้งสอง จึงได้เลิกทัพกลับยุโรป พวกครูเสดจึงรู้สึกท้อใจ และต้องล่าทัพกลับเมืองด้วยความผิดหวังและสูญเสียอย่างมาก
สงครามครูเสดครั้งที่สาม
เมื่อสองกษัตริย์และบรรดาสตรีแห่งฝรั่งเศสแตกทัพไป นูรุดดีนมุ่งตีพวกแฟรงค์ให้พ้นจากเอเชียน้อย โดยได้ยึดป้อมที่ชายแดนซีเรีย ชื่อ อัลอาริมา ( Al Aareima ) อีก 2 – 3 เดือนต่อมาเมืองซักรา ( Zaghra ) ติดกับเมืองอันติออก เสียหายอย่างหนัก ในสงครามติดพันริมกำแพงเมืองอันเนบ ( Anneb ) เจ้าชายเรย์มองแห่งอันติออก (ลุงของมเหสีพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ) ถูกฆ่า ลูกชายที่ชื่อ โบฮิมอง ( ในภาษาอาหรับเรียกว่า ปิมินด์ ) เมียของเขาได้แต่งงานใหม่ ซึ่งสามีใหม่นี้ก็รบแพ้นูรุดดีนใน ฮ.ศ 544 ( ปี ค.ศ. 1149 – 1150 ) นูรุดดีนยึดเมืองอะปาเมียส์ได้ ( ในภาษาอาหรับเรียกว่า อะฟามีอะฮ )
ปี ฮ.ศ 546 นูรุดดีนรบแพ้โยสเซลินที่ 2 แต่ต่อมานูรุดดีนเป็นฝ่ายรุกจนจับตัวโยสเซลินได้ ( โยสเซลินเป็นผู้นำทัพของพวกแฟรงค์ที่เหี้ยมโหด ) ซึ่งชาวมุสลิมถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ หลังจากนั้นนูรุดดีนยกทัพเข้าตีเมืองดุลูก ( Duluk ) ของพวกครูเสดได้อีก
ในช่วงนั้นที่เมืองดามัสกัส มีปัญหาความยุ่งยากต่าง ๆ อยู่ นูรุดดีนได้ยกทัพไปช่วยยึดดามัสกัสไว้ เคาะลีฟะฮ ที่กรุงแบกแดดได้ประทานตำแหน่ง อัล-มาลิก-อัล-อาดิล-กษัตริย์ผู้ทรงธรรมแก่เขา ขณะนั้นการศึกสงครามสงบลงชั่วคราว เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวที่ซีเรีย นูรุดดีนจึงได้ซ่อมแซมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เมื่อเคาะลีฟะฮแห่งแบกแดดซื่อ อัลมุกตะฟีเสียชีวิต ลูกชายชื่อ อะบุลมุซัฟฟัร ยูซุฟ เข้ามารับตำแหน่งแทน โดยมีชื่อตามตำแหน่งว่า อัล-มุสตันญิด บิลลาฮ เป็นเคาะลีฟะฮ คนที่ 32 ของราชวงศ์อับบาสิยะฮ
หลังจากนั้นอีก 9 ปี ราชวงศ์ฟาฏิมิยะฮอ่อนแอ เคาะลีฟะฮองค์สุดท้ายชื่อ อัล-อาซิด ลิดดีนิลลาฮ ได้ล้มป่วย บ้านเมืองจึงอยู่ภายในมืออุปราชชื่อ ชาวัร อัสสะอดีย พวกขุนนางจึงคิดจะกำจัดชาวัร ชาวัรจึงหนีไปที่เมืองดามัสกัส ขอให้นูรุดดีนช่วย โดยสัญญาว่า เมื่อยึดอำนาจคืนมาได้ จะให้กองทัพอียิปต์ช่วยรบต้านพวกครูเสด นูรุดดีนจึงส่งกองทัพไปอียิปต์ โดยการนำของ อะสัดดุดดีน ชิรกูฮ ( สิงห์แห่งภูเขา ) ผู้เป็นลุงของเศาะลาหุดดีน แต่เมื่อชาวัรได้อำนาจคืนแล้ว กลับร่วมมือกับพวกแฟรงค์ขับชิรกูฮออกจากอียิปต์
ในเดือนเราะมะฎอน อ.ศ. 559 ( สิงหาคม ปี ค.ศ. 1164 ) นูรุดดีนถูกกองทัพพวกแฟรงค์และกรีกโจมตีอย่างหนัก แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะนูรุดดีนได้ ถูกตีแตกพ่ายอย่างยับเยิน เจ้านครและนักรบต่าง ๆ ถูกจับเป็นเชลย นูรุดดีนสามารถยึดเมืองต่าง ๆ ได้อีก
ในเดือนเราะบีอุษษานีย ฮ.ศ. 562 ( มกราคม – กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1167 ) ชิรกูฮ ยกทัพไปอียิปต์ใหม่ ชาวัรได้พวกแฟรงค์มาช่วยไว้ หัวหน้าครูเสดชื่อ อะมอรี่ ( Amaury ) ที่อยู่เยรูซาเล็มได้ยกทัพไปช่วยชิรกูรฮ รบได้ชัยชนะ และได้ทำสัญญากันคือ อะมอรี่ตกลงถอนทหารออกจากอียิปต์ และสัญญาจะไม่เกี่ยวข้องกับเมืองนี้อีก ชิรกูฮยอมถอนทหารออกจากอเล็กซานเดรีย โดยรับค่าทำขวัญเป็นทองห้าหมื่นแท่ง แต่ปรากฎว่าชาวัรได้ทำสัญญาลับกับพวกแฟรงค์ ให้มีกองทหารอยู่ที่ไคโร และเมืองท่าต่าง ๆ ได้ โดยชาวัรจ่ายทองปีละหนึ่งแสนแท่ง แต่ปรากฏว่าพวกครูเสดที่เข้าครองเมืองเหล่านี้หยาบช้าและทารุณจนชาวอียิปต์ทนไม่ได้
เคาะลีฟะฮผู้หนึ่ง ชื่อ อัล-อาซิด ลิดดีนิลลาฮ จึงส่งหนังสือขอความช่วยเหลือจากนูรุดดีน นูรุดดีนส่งชิรกูฮ มาอีกครั้งพร้อมทั้งกองกำลังอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อมาถึงชานเมือง พวกครูเสดก็ได้หลบหนีไปก่อนแล้ว พร้อมด้วยทรัพย์สินที่ปล้นจากชาวอียิปต์มา
วันที่ 8 มกราคม ปี ค.ศ.1169 ชิรกูฮ ได้ยกทัพเข้ากรุงไคโร เคาะลีฟะฮได้สำเร็จโทษชาวัร ตั้งชิรกูฮเป็นอุปราชแทน อีก 2 เดือนต่อมา ชิรกูฮเสียชีวิต และมีผู้รับตำแหน่งแทน ชื่อ อุโฆษ – เศาะลาหุดดีน ซึ่งเป็นหลานชายของ ชิรกูฮ และขนานนามว่า อัลมาลิก อันนาศิร อัล-สุลฎอน เศาะลาหุดดีนยูซุฟ (เกิดที่เมืองตักรีต ที่ฝั่งแม่น้ำไตกริส ปี ค.ศ. 1138 เป็นพวกเคอร์ดิช เชื้อสายตุรกี บิดาชื่อนัจญ์มุดดีน อัยยูบ ) ซึ่งผู้นี้ต่อมาได้เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ของมุสลิม ในขณะนั้นเคาะลีฟะฮ สุขภาพไม่แข็งแรง ได้ป่วยหนัก เศาะลาหุดดีน – ผู้อยู่ในแนวหะนะฟียะฮอย่างเคร่งครัด จึงได้ประกาศอำนาจของเคาะลีฟะฮแห่งแบกแดดเหนือดินแดนอียิปต์ เมื่อถึงเวลานมาซญุมุอะฮก็ให้ออกนามเคาะลีฟะฮของแบกแดดแทน เพราะวงศ์ฟาฏิมิยะฮแห่งอียิปต์เป็นชีอะฮ
ปี ค.ศ. 1170 เคาะลีฟะฮอัลมุสตันญิดเสียชีวิต ลูกชายชื่อ อบูมุหัมมัด หะสัน รับตำแหน่งแทน มีนามว่า อัล มุสตะซิอิ บิ อัมริลลาฮ เป็นเคาะลีฟะฮองค์ที่ 33 ของวงศ์อับบาสิยะฮ
ในปีเดียวกันนี้ ลูกชายคนที่ 3 ของซังงี ชื่อ กุตบุดดีน เมาดูด เสียชีวิต และมีลูกชายชื่อ สัยฟุดดีน ฆอซีที่ 2 ขึ้นครองตำแหน่งแทน ในตอนนี้สภาวะทางการเมืองของโมสุล เกิดความวุ่นวายขึ้น นูรุดดีนก็ได้ยกทัพมาช่วยเหลือหลานชาย ต่อมาในเดือนมุหัรร็อม ฮ.ศ. 567 เคาะลีฟะฮผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงนักของอียิปต์ก็ได้เสียชีวิต เศาะลาหุดดีนจึงได้เป็นอุปราชของนูรุดดีน และได้ปกครองดินแดนอียิปต์ทั้งหมด
ในเดือนเชาวาล ฮ.ศ. 569 หรือในช่วง 15 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1174 นูรุดดีนได้เสียชีวิต เศาะลาหุดดีนจึงมีอำนาจเด็ดขาดในอียิปต์ หิจญาซและยะมัน แต่ยังขึ้นต่อพวกสัลยูกอยู่ นูรุดดีนมีลูกชายอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า อิสมาอีล ได้นามตามตำแหน่งว่า อัล-มาลิกุศ-ศอลิห อายุ 11 ปี
เมื่อนูรุดดีนเสียชีวิต เศาะลาหุดดีนก็ได้ส่งบรรณาการไปยังอัลมาลิกุศศอลิห พวกขุนนางที่เคยมีอำนาจจึงวางท่ากีดกัน เพราะเห็นว่าลูกชายของนูรุดดีนนั้นยังมีอายุน้อยเกินไป เศาะลาหุดดีนได้ส่งหนังสือไปตักเตือนพวกขุนนางว่าถ้าไม่เชื่อฟังก็จะเข้ามาปกครองดามัสกัส ในขณะนั้นขุนนางชื่อ กุมุชตาจิน ( Gumushtagin ) พามาลิกุศศอลิห หนีไปเมืองอเลปโป ทำให้พวกแฟรงค์เข้ามาโจมตีเมืองได้อย่างสะดวก พวกครูเสดเองก็ได้ยกทัพเข้ามาล้อมเมือง และถอยทัพไปเมื่อได้รับค่าทำขวัญกันมาก ทำให้เศาะลาหุดดีนโกรธมากพอ จึงยกทัพเข้ายึดดามัสกัสไว้ แต่เขาไม่เข้าไปพักในสถานที่ของนูรุดดีน เพราะถือว่าเป็นเจ้านายเก่า และตัวเองเป็นเพียงอุปราชเท่านั้น จึงได้ไปพักที่บ้านพ่อและได้เขียนจดหมายถึงมาลิกุศศอลิห ว่าเขามาที่ดามัสกัสเพื่อป้องกันเมือง แต่พวกขุนนางที่เป็นศัตรูกับเขากลับตอบจดหมายกลับมาด่าว่าเขาอย่างรุนแรง ว่าเป็นคนเนรคุณ เขาจึงได้เดินทางไปเมืองอเลปโป เพื่อจะพบลูกชายของเจ้านายและจะได้ชี้แจง แต่กลับพบกับปฏิกิริยาที่ไม่เป็นมิตรจากลูกของเจ้านายและมิหนำซ้ำยังชักชวนชาวเมืองให้ต่อสู้กับเขา หาว่าเป็นคนเนรคุณ เศาะลาหุดดีนจึงต้องสู้รบจนพวกนี้ล่าถอยเข้าเมืองไป
มาลิกุศศอลิห ได้ขอความช่วยเหลือจากสัยฟุดดีน ฆอซีที่ 2 (Saifuddin Ghazi II) เศาะลาหุดดีนได้พยายามที่จะยืนยันความจงรักภักดีและยอมสละชีวิตเพื่อจะปกป้องบ้านเมือง แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นการดูถูก เย้ยหยัน และระดมพวกครูเสดให้มาสู้รบกับเขา อย่างไรก็ตามเศาะลาหุดดีนก็ตีแตกพ่ายไป มาลิกุศศอลิหและสัยฟุดดีน ฆอซีที่ 2 ถูกตีพ่ายไปเช่นกันและเสียเมืองต่าง ๆ ทำให้มาลิกุศศอลิห ต้องยอมทำสัญญาสงบศึก โดยส่งลูกสาวคนเล็กซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ ไปให้เศาะลาหุดดีน เศาะลาหุดดีนให้ความเอ็นดูเด็กคนนี้ จึงยอมทำสัญญากับวงศ์ของนูรุดดีน และมอบของกำนัลให้ สัญญาฉบับนี้ เขาได้ปกครองเมืองดามัสกัสอย่างเด็ดขาด เคาะลีฟะฮทางเมืองแบกแดดจึงตั้งให้เป็นสุลฏอน เจ้าเมืองผู้ครองนครต่าง ๆ พากันสวามิภักดิ์ต่อเขา เพราะเชื่อกันว่าเขาจะให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือเมื่อมีภัย เศาะลาหุดดีนจึงมีอิทธิพลเรื่อยมา
เมื่อกล่าวถึงพวกครูเสดในเยรูซาเล็ม ได้รับการสนับสนุนในเรื่องกำลังคน อาวุธและเสบียงจากทางยุโรปมากขึ้น มีทั้งพวกนักรบที่ต้องการชัยชนะ พวกที่ผจญภัยแสวงหาความร่ำรวย พวกคลั่งศาสนา พวกอาชญากรที่หนีคดี ต่างพากันมาที่ชายฝั่งซีเรีย ในขณะนั้นอะมอรี่เป็นผู้ครองเมืองเยรูซาเล็มได้เสียชีวิตลง ลูกชายชื่อบอล์ดวินที่ 4 ป่วยเป็นโรคเรื้อน พี่สาวของบอลด์วินชื่อสิบิลลา (Sybilla) มีลูกชายกับสามีเก่าชื่อว่าบอลด์วิน เช่นกัน ต่อมาสิบิลลาได้แต่งงานใหม่กับกาย เดอ ลุสิกนัน (Guy de Lusignan) บอลด์วินที่ 4 จึงตั้งให้พี่เขยคนนี้เป็นผู้สำเร็จราชการ แต่ต่อมาเขาได้ตั้งเรย์มองเคานต์แห่งตริโปลีเป็นแทน และเขาได้คืนสมบัติให้กับหลานชายบอลด์วินที่ 5 ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ ต่อมาเมื่อเด็กคนนี้ตาย ผู้เป็นแม่จึงเป็นราชินีของเยรูซาเล็ม ในปี ค.ศ. 1189 เป็นต้นมา
ในสมัยบอลด์วินที่ 4 นั้นได้มีการทำสัญญาระหว่างพวกครูเสดกับเศาะลาหุดดีน ซึ่งชาวมุสลิมีนให้ความเคารพต่อสัญญาฉบับนี้ แต่พวกครูเสดถือเป็นแค่การพักรบชั่วคราวเท่านั้น ปี ค.ศ. 1189 พวกครูเสดที่ชื่อ เรโนด์ หรือเรยินัลแห่งชาติลอง ได้ปล้นคาราวานมุสลิมและฆ่าผู้คน ทำให้เศาะลาหุดดีนโกรธเป็นอย่างมาก จึงยกทัพไปแก้แค้น ผลการสู้รบพวกครูเสดตายนับหมื่นคน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง กาย เดอ ลุสิกนัน ซึ่งเป็นสามีของสิบิลลาด้วย และเรโนด์แห่งชาติลอง ได้ถูกประหารชีวิตในฐานะผู้ที่ก่อเหตุแห่งสงคราม หลังจากพวกครูเสดแตกทัพไป เศาะลาหุดดีนจึงได้มุ่งไปยึดเยรูซาเล็ม ซึ่งมีพลเมืองอยู่กันหนาแน่น มีทหารถึง 60,000 คน
ในครั้งนั้นเศาะลาหุดดีนได้บอกกับพวกนั้นว่า เขาตระหนักดีว่า เมืองเยรูซาเล็มเป็นเมืองของพระเจ้าและเขาก็ไม่ต้องการให้เปื้อนไปด้วยเลือด ขอให้เลิกสู้รบกัน แล้วเขาจะแบ่งทรัพย์สินและที่ดินให้ทำการเพาะปลูกอย่างเพียงพอ แต่สิ่งที่ได้รับคือคำดูถูก เยาะเย้ยจากพวกครูเสดอีก ทำให้นักรบผู้กล้าหาญอย่างเขาแค้นเคืองเป็นอย่างมาก เขาจึงสาบานว่าจะแก้แค้นให้กับชาวมุสลิมทั้งหลายที่ถูกฆ่าและทารุณกรรมจากกอดเฟรย์แห่งบุยยอง
เมื่อช่วงแรกที่ยกทัพเข้าตีพวกครูเสด หลังจากที่ได้ล้อมเมืองไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทำให้พวกครูเสดอ่อนกำลังลงอย่างมาก จึงขอความเมตตาจากเศาะลาหุดดีน ทำให้เขาใจอ่อนยอมให้พวกกรีกและพวกซีเรียคริสเตียนอยู่ในอาณาจักรโดยมีสิทธ์เหมือนพลเมืองทุกอย่าง ส่วนพวกทหารต้องกลับถิ่นฐานของตนเองพร้อมกับลูกเมียภายใน 40 วัน โดยให้ทหารของสุลฏอนคุ้มครองไปจนถึงเมืองตริโปลี และให้เสียค่าไถ่ตัวผู้ชาย 10 ดินาร์ หญิง 5 ดินาร์ เด็ก 1 ดินาร์ ซีเรีย ถ้าไม่มีจ่ายก็ต้องเป็นเชลย แต่มันเป็นเพียงกฎในสงครามยึดครองเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วเศาะลาหุดดีนได้ใช้เงินค่าไถ่ตัวคนพวกนี้กว่าหมื่นคน น้องชายของเขาก็ปล่อยเชลยให้เป็นอิสระถึง 7,000 คน พวกคนแก่ที่พวกคริสเตียนต้องแบกกลับ เขาก็จัดหาลาเป็นพาหนะให้และยังให้เงินช่วยอีกด้วย เมื่อพวกผู้หญิงที่ถูกปล่อยไปขอร้องให้เขาคืนสามี พ่อ และลูก ของพวกเธอเหล่านั้นด้วย เขาก็เกิดความสงสารและยินยอมให้ตามนั้น และยังได้บริจาคเงินช่วยเหลือเด็กกำพร้า และนักรบทั้งหลายที่เคยสู้รบกับเขาให้ได้รับการรักษาพยาบาล สิ่งนี้คือมนุษยธรรม ที่เศาะลาหุดดินแสดงต่อพวกครูเสด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพวกครูเสดที่เคยฆ่าฟันมุสลิม ทำร้ายและทารุณกรรมต่าง ๆ กับเด็ก และผู้หญิงชาวมุสลิม
เศาะลาหุดดีนมีความเคารพต่อศาสนสถานในเยรูซาเล็ม เขาไม่ยอมเข้าเมืองจนกว่าพวกครูเสดจะอพยพออกไปหมด และเมื่อเข้าไปแล้ว ในวันศุกร์ที่ 27 เดือนเราะญับ ฮ.ศ. 583 เขาได้ทำพิธีละหมาดที่นั่นด้วย ต่อมาพวกคริสเตียนที่ถูกปล่อยไปบางพวกได้รวบรวมกำลังคนย้อนกลับมาทำสงครามอีก แต่ก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะเศาะลาหุดดีนได้ แม้ว่าจะขอกำลังสนับสนุนจากทางยุโรปให้มาสมทบก็ตาม การทำสงครามกันจึงยืดเยื้อเรื่อยมา
นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1095 ที่สงครามครูเสดเริ่มขึ้น ดินแดนในเอเชียน้อยไม่เคยสงบสุขเลย พวกครูเสดจะยกทัพมาตีเมืองต่าง ๆ ที่อ่อนแออยู่ตลอดเวลา ซ้ำในบางครั้งมุสลิมด้วยกันก็เป็นศัตรูกันเอง จึงต้องทำสงครามกันตลอด
สงครามครูเสดครั้งที่ 4
เมื่อเศาะลาหุดดีนเสียชีวิตแล้ว ได้เกิดปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ จากลูก ๆ ของเขา เศาะลาหุดดีนมีลูกชาย 3 คนคือ อะลีย อุษมาน และฆอซี ต่างก็ได้รับสิทธิปกครองเขตแดนต่างกันไป รวมทั้งน้องชายของเศาะลาหุดดีนชื่อสัยฟุดดีน (ผู้ได้รับฉายาว่า อัล-มาลิก อัล-อาดีล เป็นแม่ทัพที่มีความสามารถและชำนาญการรบไม่แพ้ผู้ใด) เมื่อลูก ๆ ของเศาะลาหุดดีนทะเลาะกัน สัยฟุดดีนจึงได้รวบอำนาจไว้ เมื่อพวกครูเสดยกทัพมาทางทะเลยึดเมืองบัยรุตได้ เป็นการทำลายสัญญาที่ทำไว้ในสมัยของเศาะลาหุดดีน สัยฟุดดีนจึงได้ยกกองทัพไปปราบพวกครูเสด และทำสัญญาสงบศึกอีก 3 ปี แล้วจึงยกกองทัพกลับ ในตอนต้น ๆ โป๊ปเซเลสตีน (Celestine III) เป็นผู้ที่ยุให้เกิดสงครามครูเสด
สงครามครูเสดครั้ง 5
หลังจากนั้นอีก 3 ปีต่อมา โป๊ปอินโนเซ็นท์ที่ 3 (Innocent III) ได้ทำการประกาศสงครามอีก โป๊บได้ปลุกระดมให้กษัตริย์ในทวีปยุโรปยกทัพมาร่วมรบเพื่อตีเมืองเยรูซาเล็ม แต่ครั้งนี้พระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์แห่งอังกฤษไม่ทรงเห็นด้วย โป๊ปรวบรวมผู้คนได้เป็นกองทัพขนาดใหญ่ ในคราวนี้เป็นโชคดีของมุสลิม เพราะพวกนี้ได้ยกทัพมุ่งไปเมืองคอนสแตนติโนเปิ้ล แทนที่จะไปเอเชียน้อย เมืองคอนสแตนติโนเปิ้ล เป็นที่ตั้งของพวกคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ เมืองคอนสแตนติโนเปิ้ลจึงถูกพวกครูเสดยึดได้ง่าย เมืองถูกเผาทำลาย นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ไฟลุกโชติช่วงสูงเกิน 1 ลีก ( ประมาณ 3 ไมล์) เป็นเวลา 8 วัน 8 คืน แม้โป๊ปจะรู้สึกสลดใจต่อการกระทำของพวกครูเสด แต่ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งได้ ทั้งผู้หญิงและเด็ก ถูกฉุดฆ่าและสับเป็นท่อน ๆ โดยพวกคริสเตียนเหล่านี้
พวกครูเสดโรมันได้ครองเมืองอยู่ถึง 40 ปีเศษ ในที่สุดพวกกรีกสามารถกอบกู้เมืองคืนมาได้ และปกครองอยู่อีกราว 200 ปี จึงได้เสียเมืองให้พวกตุรกีอุษมานิยะฮ ( ที่ฝรั่งเรียกว่า อาณาจักรออตโตมัน แห่งตุรกี )
สงครามครูเสดครั้งที่ 6
นับเป็นสงครามครั้งที่รุนแรงและโหดร้ายที่สุด เพราะมีการปลุกระดม ปลูกฝังแนวความคิดให้พวกเด็ก ๆ และผู้หญิง เข้าไปร่วมรบในปาเลสไตน์ด้วย โดยเด็กฝรั่งเศสชื่อ สตีเฟน อายุ 12 ปี บอกว่าพระเยซูมีบัญชาให้ตนเองยกกองทัพครูเสดของพวกเด็ก ๆ ไปช่วยกอบกู้สุสานบริสุทธิ์ของพระองค์ เด็ก ๆ เกิดความตื่นเต้นกับคำพูดอวดอ้างของสตีเฟน ต่างพากันไปชุมนุมเพื่อสนับสนุนพวกคลั่งศาสนา ประกอบกับได้มีการอ้างถึงคัมภีร์ไบเบิ้ลใหม่ เช่น มัดธาย 21 : 17 ความว่า “เสียงที่ออกจากปากเด็กอ่อนและทารกนั้นเป็นคำสรรเสริญอันแท้จริง” พวกเด็ก ๆ ในเยอรมันจึงรวมตัวกันเกือบ 4 หมื่นคน เดินทางข้ามภูเขาแอลป์มุ่งหน้าที่จะไปยังประเทศ อิตาลี โดยหวังว่าจะเห็นปาฏิหาริย์ทะเลแยกออกให้พวกเขาเดินผ่านไปยังปาเลสไตน์ได้ แต่การเดินทางที่ยาวไกล ต้องพบกับความยากลำบากและความหนาวเหน็บ ทำให้เด็ก ๆ ต้องล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ฝ่ายเด็ก ๆ ชาวฝรั่งเศสเกือบ 3 หมื่นคน แม้จะเดินทางมาถึงเมืองท่ามาร์เซลส์ได้ แต่พวกเขาก็ผิดหวัง เพราะไม่เห็นทะเลแยกออกจากกันจึงพากันกลับ
โป๊ปได้ขอให้พวกเด็ก ๆ ชาวเยอรมันเดินทางกลับบ้าน ยังคงมีแต่เด็ก ๆ ชาวฝรั่งเศส 4-6 พันคนที่ยังคงปักหลักอยู่ที่เมืองมาร์เซลส์ ทำให้ถูกพวกพ่อค้าที่เห็นแก่ตัวทั้งหลาย ได้อาสาจัดเรือเพื่อนำเด็ก ๆ เหล่านั้นไปยังปาเลสไตน์ เพียงเพื่อการมุ่งหาแต่ผลกำไร แม้จะเป็นจากกลุ่มเด็ก ๆ ก็ตาม โดยการนำเด็กเหล่านั้นไปยังเมืองอเล็กซานเดรีย และเมืองท่าอื่น ๆ ซึ่งเป็นตลาดค้าทาสแทน แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ลูกหลานคริสเตียนครูเสด ก็ยังถูกพวกคริสเตียนด้วยกันเองนำตัวไปขายเป็นทาส เจตนาการทำสงครามครูเสดนั้น ได้เปลี่ยนไปนับแต่นั้น เพราะผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ต่างมุ่งที่จะกอบโกยประโยชน์อย่างไร้มนุษยธรรม
สงครามครูเสดครั้งที่ 7
ในระหว่างปี ค.ศ. 1216 – 1217 โป๊ปอินโนเซ็นท์ที่ 3 ได้ประกาศสงครามอีกครั้ง ในครั้งนี้กษัตริย์เมืองฮังการี ดยุกแห่งเมืองออสเตรียและบาวาเรียน พร้อมทั้งเจ้าเมืองต่าง ๆ ได้รวบรวมคนถึง 250,000 คน เดินทางไปอียิปต์เพื่อตีเมืองดิมยาต (Damietta) สัยฟุดดีนยกทัพจากทางเหนือเพื่อมาช่วย แต่ได้เสียชีวิตกลางทาง หลังจากพวกครูเสดล้อมเมืองไว้ถึง 18 เดือน จึงเข้ายึดดิมยาตได้ และทำการทารุณชาวเมืองดิมยาต หลังจากนั้นจึงได้ยกกองทัพต่อไปที่ไคโร ขณะนั้นเองลูกชายของสัยฟุดดีน มีนามตามตำแหน่งว่า อัล-มาลิก อัล-กามิล เป็นผู้ปกครองเมืองอยู่ ได้ขอทำสัญญาสงบศึกกับพวกครูเสด โดยยอมคืนเมืองต่าง ๆ ที่เศาะลาหุดดีนตีมาได้ ให้พวกครูเสด แต่พวกครูเสดไม่ยอม ชาวมุสลิมจึงได้พังเขื่อนกั้นน้ำ เพราะขณะนั้นน้ำในแม่น้ำไนล์กำลังขึ้น และพวกครูเสดอยู่ในที่ลุ่ม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พวกครูเสด และกองกำลังได้ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ขาดการติดต่อกับเมืองอื่น ๆ พวกครูเสดจึงเป็นฝ่ายขอทำสัญญาสงบศึกเสียเอง โดยยอมคืนเมืองดิมยาตให้แก่มุสลิมและได้ยกทัพกลับในเวลาต่อมา
สงครามครูเสดครั้งที่ 8
ลูกชายคนที่ 2 ของสัยฟุดดีน ชื่อว่า อีซา มีนามตามตำแหน่งว่า อัล-มาลิก อัล-มุอัซซัม ต้องการแยกอำนาจจากพี่ คือ อัล-มาลิก อัก-กามิล จึงไปทำสัญญากับศัตรู คือ พวกเฟรดเดอริกที่ 2 เมื่อมุอัซซัมเสียชีวิตลง ในปี ฮ.ศ 624 (ค.ศ. 1227 ) ลูกชายชื่อดาวูด มีนามตามตำแหน่งว่า อัล-มาลิก อันนาศิร ได้ปกครองดินแดนในส่วนนั้นต่อมา พี่คนโตของมุอัซซัมคือกามิลและน้องคนเล็กชื่อ อัชรัฟ จึงยกทัพเข้ายึดเมืองดามัสกัส แล้วให้ดาวูดปกครองเมืองฮัรรอน เอเดสสาและร็อกกะแทน
ใน ค.ศ 1229 เฟรดเดอริกที่ 2 ยกทัพมาถึงซีเรีย เฟรดเดอริกได้เจรจากับกามิล ตกลงทำสัญญาซึ่งในสัญญานั้นมีอายุ เป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน 10 วัน ความว่า ให้เฟรเดอริกเข้าครองเมืองเยรูซาเล็ม เมืองบัยตุลละหัม ( เมือง เบธเลเฮม ) เมืองนาซาเรส และเมืองอื่น ๆ ระหว่างยัฟฟะถึงอักกะได้ และยอมให้มุสลิมมีสิทธิประกอบศาสนกิจในเมืองเหล่านี้ได้อย่างเสรี แต่ทั้งมุสลิมและคริสต์เตียนไม่เห็นด้วยกับสัญญาฉบับนี้ ทางฝ่ายมุสลิมเกิดความแค้นเคืองที่กามิลยกเมืองที่เศาะลาหุดดีนตีมาได้ให้แก่พวกครูเสด ส่วนพวกครูเสดก็ไม่ยอมรับพวกมุสลิม เพราะถือเป็นพวกนอกศาสนา ไม่ยอมให้ประกอบศาสนกิจได้ โป๊ปเองก็ไม่พอใจเฟรดเดอริกที่ยกทัพไปตามลำพัง จึงประกาศให้เป็นพวกนอกศาสนา เมื่อทำสัญญาเสร็จ เฟรดเดอริกจึงได้ยกทัพกลับ
กามิลเสียชีวิตลง ในวันที่ 8 มีนาคม 1238 มีลูกชายคนหนึ่งชื่อ อบูบักร ครองราชสมบัติแทน แต่เนื่องด้วยความเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต ทำให้ลูกผู้พี่คือ ดาวูด ได้ยึดเมืองคืนและกอบกู้เมืองเยรูซาเล็มให้กลับมาเป็นของมุสลิมอีกครั้ง
สงครามครูเสดครั้งที่ 9
กษัตริย์ของฝรั่งเศส หลุยส์ที่ 9 ได้ยกกองทัพมาทางทะเลขึ้นบกที่ดิมยาตและเข้ามายึดเมืองได้ซึ่งในขณะนั้น อัล-มาลิก อัศ-ศอลิห นัจญ์มุดดีน อัยยุบ ได้เสียชีวิตลง เมื่อลูกชายของศอลิห ชื่อ ตุรอนซาฮ เดินทางกลับมาจากเมโสโปเตเมีย ได้ทราบข่าว แต่เนื่องจากไม่ถูกกับพวกบ่าวของพ่อ คือพวกมัมลูก จึงได้ถูกแม่เลี้ยงชื่อนางชะญัรสั่งให้คนลอบฆ่า แล้วนางก็สถาปนาตนขึ้นเป็นราชินีมุสลิม แต่ผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงคือ มัมลูก (ชื่อมุอีซุดดีน อัยบาก) นั่นเอง ซึ่งต่อมานั้นเป็นต้นราชวงศ์มัมลูกกิยะฮ วงศ์นี้ปกครองตั้งแต่ ค.ศ.1250 ถึง 1390 เป็นเวลาถึง 140 ปี
ต่อมาอัยบาย เกิดความขัดแย้งกับพวกหลานของเศาะลาหุดดีน ซึ่งเป็นที่สุดของราชวงศ์อัยยูบิยะฮ ก่อให้เกิดการล่มสลายของราชวงศ์ลง และวงศ์มัมลูกกิยะฮ ก็ได้ขึ้นมาแทน
ในช่วงเวลานี้ ทางตะวันออกก็เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น คือ พวกมองโกเลียโดยการนำของเจงกิสข่าน ได้เดินทางมาทางยุโรป และบรรดาลูกหลานของเจงกิสข่านได้ยึดเมือง แบกแดด ซึ่งมีชาวเมืองประมาณ 2 ล้านคน และเผาทำลายบ้านเมืองลงหมด ทำให้วงศ์อับบาสิยะฮสิ้นสุดลง โดยมีเคาะลีฟะฮ องค์สุดท้าย คือองค์ที่ 37 ชื่อ อัลมุสตะอศิมบิลลาฮ เป็นผู้ปกครอง เมื่อ ฮ.ศ. 640 ( ค.ศ. 1242 ) พวกมัมลูกสามารถต้านกองทัพของพวกมองโกเลียไว้ได้ และเป็นการกันไม่ให้รุกรานไปจนถึงซีเรีย และอียิปต์
สงครามครูเสดครั้งที่ 10
พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส เดินทางกลับทวีปยุโรป และขอให้โป๊ปอภัยโทษให้พระเจ้าเฟรดเดอริกที่ 2 ของเยอรมัน ใน ปี ค.ศ. 1270 พระองค์ได้ทรงชักชวนให้ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ของอังกฤษมาร่วมทำสงครามครูเสดอีก แต่พระเจ้าหลุยส์ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคระบาดที่เมืองคาร์เธจเสียก่อน
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดได้เสด็จกลับจากปาเลสไตน์เมื่อ ปี ค.ศ. 1271 ถึงอังกฤษ ปี ค.ศ. 1274
ครั้งสุดท้ายมีการเคลื่อนไหวที่จะทำให้เกิดสงครามครูเสดขึ้นมาอีกโดย ปิอุสที่ 2 ในช่วงปี ค.ศ. 1460 แต่เมื่อโป๊ปเสียชีวิตลง ในปี ค.ศ. 1464 เรื่องสงครามครูเสดก็ได้ยุติลง
สงครามครูเสดทำให้เกิดผลลัพธ์ทางอ้อมหลายประการด้วยกันคือ
1. บ้านเมืองของชาวตะวันตกได้รับการทำนุบำรุงจากเงินของพวกเจ้าขุนมูลนาย อัศวินนักรบทั้งหลายที่ไปทำสงครามแล้ว ไม่ได้กลับมา ส่วนพวกที่ไม่ได้เสียชีวิตในการรบ ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อช่วยทำสงคราม ทำให้เสียดุลย์ในการมีทรัพย์ อำนาจของกษัตริย์มีมากขึ้น
2. ชาวตะวันตกได้รับความรู้ใหม่ ๆ หลายอย่างจากชาวมุสลิม เช่นเรื่องโรงสีลม การใช้เข็มทิศเดินเรือ ทำให้อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ส่วนชาวมุสลิมเองก็ได้รับความรู้จากพวกคริสต์มากมายเช่นกัน
3.ในการสำรวจพื้นที่เพื่อทำการสงครามที่ต่อเนื่องนั้น ทำให้ชาวเวนิสผู้หนึ่งมีชื่อเสียงขึ้นมา คือมาร์โคโปโล

เคาะลีฟะห์ของราชวงศ์อับบาซียะห์

             ราชวงศ์ที่สืบทอดการปกครองในระบอบคิลาฟะฮฺภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺในนครดามัสกัส,  มีอำนาจอยู่ระหว่างปี ฮ.ศ.132-656 / คศ.750-1259,  สืบเชื้อสายถึงท่านอัลอับบ๊าส  ลุงของท่านศาสดามุฮำมัด  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม),  มีธงสีดำเป็นสัญลักษณ์,  รัฐคิลาฟะฮฺแห่งอิสลามได้บรรลุถึงความเจริญสุดขีดในรัชสมัยของพวกอับบาซียะฮฺ

            การปฏิวัติลุกฮือของพวกอัลอับบาซียะฮฺได้เริ่มขึ้นในแคว้นคุรอซาน  ภายใต้การนำของอบูมุสลิม  อัลคุรอซานีย์หลังจากมีการเรียกร้องอย่างลับ ๆ อยู่ราวครึ่งศตวรรษ  ในปี ฮ.ศ.130 / คศ.748  ค่อลีฟะฮฺท่านแรกของราชวงศ์คือ  อบุลอับบ๊าส  อัซฺซัฟฟาฮฺ  ซึ่งถูกให้สัตยาบันในมัสญิดแห่งนครอัลกูฟะฮฺ  และสามารถสร้างความปราชัยแก่พวกวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺ  โดยค่อลีฟะฮฺมัรวานที่  2  ค่อลีฟะฮฺคนสุดท้ายของราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺได้ถูกสังหาร  และอับดุรเราะฮฺมาน  อัดดาคิลสามารถหลบหนีไปยังแคว้นอัลอันดะลุส, 


            ต่อมาค่อลีฟะฮฺอัลมันซู๊รได้สืบอำนาจต่อจากอัซซัฟฟาฮฺ  และปราบปรามการจลาจลวุ่นวายจนสามารถสร้างเสถียรภาพให้แก่ราชวงศ์อัลอับบาซียะฮฺ,  ในเวลาต่อมา,  ค่อลีฟะฮฺอัลมันซุ๊รได้สร้างนครแบกแดดขึ้นเป็นราชธานี 


        นครแบกแดดได้กลายเป็นนครแห่งอารยธรรมอันเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านวรรณกรรมและสรรพวิทยาตลอดช่วงระยะเวลาหลายศตวรรษในยุคกลาง,  มีบรรดาค่อลีฟะฮฺที่เลื่องลือหลายท่าน  อาทิเช่น  ฮารูน  อัรร่อชีดฺ  ซึ่งต่างก็อุปถัมภ์บรรดานักปราชญ์  นักกวีเป็นจำนวนมาก 


           ต่อมาค่อลีฟะฮฺอัลมุอฺตะซิม  บิลลาฮฺ  ได้สร้างนครซามัรรออฺขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่ในระหว่างปี คศ.836-892  จนกระทั่งคอลีฟะฮฺอัลมุอฺตะมิด  บิลลาฮฺ  ได้ย้ายราชธานีกลับมายังนครแบกแดดอีกครั้ง,  ภายหลังการลอบสังหารค่อลีฟะฮฺอัลมุตะวักกิล  บิลลาฮฺ  ในปี ฮ.ศ.247 / คศ.861 


            พวกเติร์กที่เป็นแม่ทัพก็เข้ามามีอิทธิพลเหนือบรรดาค่อลีฟะฮฺตลอดช่วงเวลาราว  1  ศตวรรษ  ทำให้อาณาจักรอัลอับบาซียะฮฺอ่อนแอลง  และเป็นผลทำให้มีรัฐอิสระเกิดขึ้นเป็นอันมาก  อาทิเช่น  พวกฏูลูนียะฮฺ,  พวกอัลอิคฺชีดียะฮฺ  และพวกอัลฟาฏีมียะฮฺ  ซึ่งซ่อลาฮุดดีน  อัลอัยยูบีย์ได้ยุบเลิกราชวงศ์ของพวกเขาลง,  และพวกอัลฮัมดานียะฮฺในนครฮะลับ  (อเล็ปโป), 


            ต่อมาในปี ฮ.ศ.334 / คศ.945  พวกอัลบุวัยฺฮียูนฺได้เข้ามายึดครองนครแบกแดดเอาไว้  ทำให้บรรดาค่อลีฟะฮฺในราชวงศ์อัลอับบาซียะฮฺกลายเป็นเครื่องเล่นของพวกเขา,  ในปี ฮ.ศ.447 / คศ.1055  ตุฆรุ้ล  เบก  อัซซัลฺจูกีย์ได้เข้ายึดครองนครแบกแดดและประกาศการสิ้นสุดอำนาจของพวกอัลบูวัยฮียูน,  พวกมองโกลได้รุกรานและเข้าทำลายนครแบกแดด  โดยฮูลากูได้สังหารค่อลีฟะฮฺ  อัลมุซตะอฺซิม  บิลลาฮฺ  ซึ่งทำให้ราชวงศ์อัลอับบาซียะฮฺสิ้นสุดลง


บรรดาค่อลีฟะฮฺในราชวงศ์อัลอับบาซียะฮฺ 

1. อัซฺซัฟฺฟาฮฺ          (ฮ.ศ.132/คศ.750)
2. อัลมันซูร             (ฮ.ศ.136/คศ.754)
3. อัลมะฮฺดีย์           (ฮ.ศ.158/คศ.775)
4. อัลฮาดีย์             (ฮ.ศ.169/คศ.785)
5. ฮารูน  อัรร่อชีด   (ฮ.ศ.170/คศ.786)
6. อัลอะมีน             (ฮ.ศ.193/คศ.809)
7. อัลมะอฺมูน           (ฮ.ศ.198/คศ.813)
8. อัลมุอฺตะซิม        (ฮ.ศ.218/คศ.833)
9. อัลฺวาซิก             (ฮ.ศ.227/คศ.842)
10. อัลมุตะวักกิล     (ฮ.ศ.232/คศ.847)
11. อัลมุนตะซิรฺ       (ฮ.ศ.247/คศ.861)
12. อัลมุสตะอีน       (ฮ.ศ.248/คศ.862) 
13. อัลมุอฺตัซฺซุ        (ฮ.ศ.252/คศ.866)
14. อัลมุฮฺตะดีย์       (ฮ.ศ.255/คศ.869)
15. อัลมุอฺตะมิด       (ฮ.ศ.256/คศ.870)
16. อัลมุอฺตะฎิด       (ฮ.ศ.279/คศ.892)
17. อัลมุกตะฟีย์       (ฮ.ศ.289/คศ.902) 
18. อัลมุกตะดิรฺ       (ฮ.ศ.295/คศ.908)

19. อัลกอฮิรฺ           (ฮ.ศ.320/คศ.932) 
20. อัรรอฎีย์            (ฮ.ศ.322/คศ.934)
21. อัลมุตตะกีย์      (ฮ.ศ.329/คศ.940)
22. อัลมุสตักฟีย์      (ฮ.ศ.333/คศ.944)  
23. อัลมุฏีอฺ             (ฮ.ศ.334/คศ.946)
24. อัฏฏออิอฺ          (ฮ.ศ.363/คศ.974)
25. อัลกอดิรฺ           (ฮ.ศ.381/คศ.991)
 26. อัลกออิมฺ          (ฮ.ศ.422/คศ.1031)
27. อัลมุกตะดีย์      (ฮ.ศ.467/คศ.1075)
28. อัลมุสตัซฮิรฺ      (ฮ.ศ.487/คศ.1094)
29. อัลมุซตัรฺชิดฺ      (ฮ.ศ.512/คศ.1118)
30. อัรรอชิดฺ           (ฮ.ศ.529/คศ.1135)
31. อัลมุกตะฟีย์      (ฮ.ศ.530/คศ.1136)
32. อัลมุสตันญิด     (ฮ.ศ.555/คศ.1160)
33. อัลมุซตะฎีอฺ      (ฮ.ศ.566/คศ.1170)
34. อันนาซิรฺ           (ฮ.ศ.575/คศ.1180)
35. อัซซอฮิรฺ          (ฮ.ศ.622/คศ.1225)
36. อัลมุสตันซิรฺ      (ฮ.ศ.623/คศ.1226)
37. อัลมุสตะอฺซิม    (ฮ.ศ.640-656/คศ.1242-1258)

อัล – อมีน

อัล อมีน ( ฮศ. 194 – 98 , คศ. 809 – 13 )
            เมื่อฮารูน อัร รอชีดสิ้นชีพลง โอรสท่านแรกของท่านคืออมีนก็ขึ้นครองราชย์ อมีนเป็นกษัตริย์ที่โปรดปราน ความสำราญและหรูหราฟุ่มเฟือย จึงทรงทิ้งราชการงานเมืองไว้ในกำมือของเอกอัครเสนาบดี คือ ฟัฎล์ อิบนุ รอบีอ์ ( Faz libn Rabi ) ส่วนตนเองก็หมกมุ่นอยู่ในความสำราญต่าง ๆ เมื่อครั้งที่ฮารูนมีชีวิตอยู่นั้นได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรถึงการแต่งตั้งอมีนและมะมูนเป็นเคาะลีฟะห์ต่อมาตามลำดับพร้อมด้วยคำสัตย์สาบานของโอรสทั้งสองว่าจะทำตามที่ท่านทรงจัดไว้ และจะไม่ละเมิดสัญญานั้น ในขณะนั้นมะมูนโอรสที่สองกำลังเป็นผู้ปกครองแคว้นต่าง ๆ ทางทิศตะวันออก นิสัยใจคอของเขารวมทั้งการปกครองที่ละมุนละหม่อมได้ชนะใจคนส่วนมาก ชื่อเสียงของมะมูนจึงระบือไปไกล
            ความกว้างขวางรวมทั้งความมั่นคงและอำนาจของเขาสร้างความหวาดหวั่นให้แก่อมีน อมีนจึงทรงถอดถอนมะมูนออกจากตำแหน่งผู้ปกครองแคว้นคูราซานและแต่งตั้งมูซาโอรสของท่านเองให้เป็นผู้สืบต่อตำแหน่งเคาะลีฟะห์ทั้งนี้เป็นการละเมิดสัญญาที่ได้ให้ไว้แก่พระราชบิดา มะมูนจึงจำต้องประกาศสงครามกับอมีน
            พี่น้องสองคนนี้มีนิสัยใจคอแตกต่างกัน รวมทั้งสติปัญญาและความสามารถด้วย อมีนนั้นเป็นโอรสของ สุบัยดะห์ ( Zubayda ) และมีลุงทางฝ่ายมารดา คือ อีซา ( lsa) เป็นครู ส่วนมะมูนเป็นโอรสของมเหสีชาวเปอร์เซียของฮารูน ถึงแม้ว่าคนทั้งสองจะเล่าเรียนมาเหมือน ๆ กันก็ตาม แต่ อมีนโตขึ้นเป็นคนที่ไม่เอาจิงเอาจัง โปรดปรานความสนุกสนาน บันเทิงต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะรู้ภาษาอาหรับดีก็ตาม ส่วนมะมูนก็มีความรู้พอ ๆ กัน  เขาเรียนรู้กฎหมายอิสลาม ศาสนาและปรัชญา

สงครามกลางเมือง ระหว่างอมีนกับมะมูน

            ก่อนสิ้นชีพ ฮารูน อัร รอชีด ได้นำทัพไปที่คูราซานในระหว่างเวลานั้นได้ยกกองทัพและทรัพย์สินของหลวงซึ่งได้ทรงนำไปให้แก่มะมูน เพื่อป้องกันแว่นแคว้นทางทิศตะวันออก เมื่อฮารูนสิ้นชีพลง ฟัฎล์ บิน ริบีอ์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาใหญ่ของฮารูนและของ
อมีนมากกว่ามะมูนก็ได้นำกองทัพและทรัพยสินเหล่านั้นมาให้แก่อมีน ซึ่งเป็นการละเมิดคำสั่งครั้งสุดท้ายของฮารูน
มะมูนจึงสั่งปิดดินแดนของเขาเสียเพื่อว่าพวกสอดแนมจะได้ไม่เข้ามาแคว้นคูราซานได้
            อมีนได้ส่งกองทัพซึ่งมีจำนวนพล 40,000 คน มายังคุราซานทันทีโดยมีอะลีบินอีซา ( Ali bin lsa ) เป็นแม่ทัพมะมูนจึงส่งกองทัพชาวคูราซานซึ่งมีจำนวนพลเพียง 4 ,000 คน มีซะฮ์รี บินหุสัยน์ ( Zahir bin Husayn ) ไปรับมือกองทัพทั้งสองปะทะกันภายใต้กำแพงเมืองเรย์ ( Ray ) เมื่อเดือนพฤษภาคม คศ. 811 และเกิดการต่อสู้กันอย่างรุนแรง ในที่สุดอะลี บิน อีซา ก็เสียชีวิตเมื่อได้ชัยชนะต่อกองทัพของอะลีแล้ว มะมูนก็ประกาศตนเป็นเคาะลีฟะห์ ในปี คศ. 814 อมีน ถูกฆาตกรคนหนึ่งลอบสังหาร

อัล มะมูน  ( ฮศ. 192 – 218 , คศ. 813 – 933 )

  เมื่อพระเชษฐาสิ้นชีพลงแล้ว เคาะลีฟะห์มะมูนก็เข้าถือบังเหียน การปกครองราชอาณาจักร แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เดินทางมาเมืองหลวง เพราะมัวเป็นธุระอยู่ที่เมืองเมิร์ฟ เป็นผลทำให้เกิดความระส่ำระส่ายวุ่นวายขึ้นในรัฐ สถานะการณ์ในอิรัก และซีเรียก็เลวร้าย เชื้อสายของราชวงศ์อุมัยยะห์ คนหนึ่งมีนามว่า นาซิร อิบนุสะบาด ( Nasir ibn Sabath ) ซึ่งจงรักภักดีต่อราชวงศ์อุมัยยะห์ได้จับอาวุธขึ้นเพื่อแก้แค้นแทนราชวงศ์ที่ถูกโค่นล้มไป และทำการท้าทายกองทัพหลวงอยู่เป็นเวลาห้าปี ในปีต่อมาได้เกิดการกบฎอย่างรุนแรงขึ้น อิบนุ ฏอบาฏอบา ( lbn Taba – taba ) ได้ปรากฎเมืองขึ้นที่ คูฟะห์ และเกลี้ยกล่อมประชาชน ให้จงรักภักดีต่อเชื้อสายของท่านศาสดา เขาได้รับสนับสนุนจาก อบูสะรอยา ( Abu Saraya ) ซึ่งเป็นนักผจญภัยที่รู้จักกันดี เขาได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของสะรอยาไปโจมตีกองทัพหลวงเสียแหลกลานแต่สะรอยาไม่เต็มใจที่จะแสดงบทบาทเป็นตัวรองอีกต่อไปจึงได้วางยาพิษอิบนุฏอบาฏอบาตายและตั้งมูฮัมมัดบินมุฮัมมัด
( Muhammad bin Muhammad ) ซึ่งเป็คนในตระกูลของท่านอะลีแทน ชัยชนะของอบูสะรอยาดำเนินต่อไปจนเมืองบัศเราะห์วาซิฏ ( Wasit ) และมดาอิน ( Madain ) ตกอยู่ในมือของเขา มักกะห์ มะดีนะห์ และยะมัน ก็ตกอยู่ในมือของพวกอะลีซึ่งกระทำการร้ายต่าง ๆ นานา เมื่ออบูสะรอยาเริ่มจะรุกเข้ามาที่เมืองหลวง ฮะซันบินซาฮล์ก็รีบส่งฮัรซะมา บิน อัยยัน ( Harthama bin Ayan ) มาต่อสู้ เหตุการณ์ก็กลับกลายไปอย่างไม่คาดฝัน กองทัพฝ่ายอะลีถูกขับไล่กลับไปทั่วทุกหนแห่ง และอิรักทั้งประเทศก็ตกอยู่ในมือของอับบาซียะห์อีกครั้งหนึ่ง คูฟะห์ยอมจำนนและบัศเราะห์กลับคืนมาด้วยการถูกโจมตี อบูสะรอยาหนีไปอยู่ที่เมโสโปเตเมียแต่ภายหลังถูกจับได้และถูกตัดศรีษะ การกบฎในอารเบียก็ยุติลง ฮัรซะมารับการขอร้องให้ไปที่อิรัก แต่เขาปฏิเสธและได้ไปยังเมืองเมิร์ฟแทน  เขาต้องการที่จะให้เคาะลีฟะห์ทรงทราบถึงสถานะการณ์ต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง ซึ่งเอกอักครเสนาบดีได้ปกปิดไว้แต่เอกอัครเสนาบดีได้ยุยงเคาะลีฟะห์เสียจนกระทั่งเมื่อแม่ทัพชรามาถึงเขาก็ถูกจับตัวเข้าคุกและได้เสียชีวิตลงในนั้น
            เมื่อข่าวการสิ้นชีพของฮัรซะมา ถึงหูประชาชนในบัฆดาดประชาชน ก็ลุกฮือขึ้นต่อต้าน อัล ฮะซัน
            หลังจากต่อสู้กันได้สามวัน ก็ขับเขาออกจากเมืองไปหลบภัยอยู่ในมะดีนะห์ และต่อมาก็หนีไปยังวาซิฏ ประชาชนยกมันซูรบินมะห์ดี ( Mansur bin Mahdi ) ขึ้นเป็นหัวหน้า แต่เขาปฏิเสธไม่ยอมเป็นเคาะลีฟะห์แต่ยินยอมที่จะทำหน้าที่ผู้ปกครองเมืองในนามของ อัล มะมูน  
            ในระหว่างนั้นที่เมืองเมิร์ฟ มะมูนได้ทรงตัดสินใจที่เป็นเสมือนสายฟ้าฟาดแรงบนราชวงศ์อับบาซียะห์ นั่นคือ ในปี ฮศ. 202 หรือ คศ. 817 ได้ทรงแต่งตั้งให้อิหม่านอะลีอัร ริฏอ ( Ali ar – Riza )  ผู้เป็นบุตรของมูซาอัล กอซิม  ( Musa al – Kazim ) ซึ่งอยู่ในตระกูลของท่านอะลีเป็นเคาะลีฟะห์สืบต่อท่านและทรงให้เปลี่ยนสีประจำราชอาณาจักรจากสีดำเป็นสีประจำราชวงศ์อับบาซียะห์ มาเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสีประจำตระกูลของท่านอะลี การตัดสินใจนี้ก่อให้เกิดการคัดค้านไปในหมู่พวกอับบาซียะห์ ประชาชนปฏิเสธไม่ยอมให้สัตย์ปฏิญาณต่ออิม่ามอะลี ประกาศให้ถอดมะมูนออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งอิบรอฮีม บินมะห์ดี ( lbrahim bin Mahdi ) เป็นเคาะลีฟะห์แทน แว่นแค้วนอื่น ๆ ก็ทำตาม กรุงบัฆดาด ในช่วงเวลาวิกฤตการณ์นี้ อะลีบัร ริฎอได้เรียนให้มะมูนทราบถึง สถานะการณ์ต่าง ๆ ที่แท้จริงและขอร้องให้ ท่านไปที่บัฆดาดสักครั้งหนึ่งมะมูนทรงตระหนักว่าการกบฎนี้เกิดขึ้นเพราะท่านทรงละทิ้งหน้าที่ให้ฟาฎิลนานเกินไป จึงทรงสั่งให้ราชสำนักย้ายกลับไปยังบัฆดาด เมื่อมาถึงซารูก ( Saruk ) ก็ทราบว่าฟัฎล์ถูกฆ่าตายในขณะอาบน้ำ
            และหลังจากนั้นไม่นานอะลี อัร ริฎอ ก็ตายลงอย่างกระทันหัน เมื่อฟัฏล์สิ้นชีพลงน้องชายของเขาคือ ฮะซันบินซาฮล์ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครเสนาบดีแทน และ ธิดาของเขาชื่อ บูรอน ( Buran ) ก็ได้วิวาห์กับมะมูนในภายหลังในปี ฮศ. 204 หรือ คศ. 819 มะมูนก็เข้าเมืองบัฆดาดแล้วเหตุการณ์ไม่สงบทั้งหลายก็หมดไป
            ติฮิร ( Tahir ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองแคว้นทางตะวันออก เมื่อเขาสิ้นชีพลงฎ้อลฮะห์ ( Talha ) บุตรของเขาก็ได้รับตำแหน่งแทน ส่วนบุตรชายอีกคนหนึ่งของเขาซึ่งชื่อว่าอับดุลลอฮ์ก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ปกครองอียิปต์และซีเรีย อับดุลลอฮ์ชอบมะมูนมากจึงนำตัวนาซิร บิน สะบาด ซึ่งหลบหนีไป มามอบตัวที่เมโสโปเตเมียแล้วอับดุลลอฮ์ก็ยกทัพต่อไปยังอียิปต์ซึ่งสถานะการณ์กำลังเลวร้าย โดยถูกรุกรานจากมุสลิมสเปน ซึ่งเป็นฝ่ายราชวงศ์อุมัยยะห์ เมื่อมาถึงเมืองอเล็กซานเดรีย อับดุลลอฮ์ก็พบว่าคนเหล่านั้นกำลังก่อความวุ่นวาย จึงขอให้พวกเขายอมแพ้เสีย คนเหล่านั้นได้ขออนุญาตไปอยู่ที่เกาะครีท ซึ่งอับดุลลอฮ์ก็อนุญาต เมื่อคนเหล่านั้นไปถึงเกาะครีตได้ไม่นานก็ได้ช่วยต่อสู่ยึดเอาเมืองครีตมาเป็นของมุสลิมได้ด้วยความช่วยเหลือจากอียิปต์ และสองปีก่อนหน้านั้นซิซิลีก็ถูกยึดเอามาเป็นราชอาณาจักรมุสลิมโดยซิยาดะตุลลอฮ์ อัฆลาบ
( Ziyadatullah  Aghlab )
            ต่อจากนั้น อับดุลลอฮ์ก็เริ่มปราบโจรบาเบค ( Babek ) โจรผู้มี ชื่อคนนี้เป็นที่หวาดเกรงของผู้คนในแว่นแคว้นภาคเหนือมาเป็นเวลาถึงยี่สิบปีแล้ว เป็นคนทารุณโหดร้าย ชอบฆ่าผู้ชายและจับตัวเอาผู้หญิงไป แต่ในที่สุดก็ถูกกองทัพมุสลิมขับไล่ไป จึงแก้แค้นโดยจักรพรรดิ์ ไบแซนไตน์อย่างลับ ๆ มาโจมตีเขตแดนมุสลิม อับดุลลออ์ก็ปราบศัตรูได้ เคาะลีฟะห์จึงทรงให้สร้างฐานทัพที่แข็งแกร่ง ขึ้นที่เมืองทยานา ( Tyana ) หลังจากนั้นท่านก็ทรงเป็นแม่ทัพไปยังเอเซียไมเนอร์ แต่สิ้นชีพโดย ประชวรเป็นไข้เพราะทรงสรงน้ำในแม่น้ำซิล ( Chill ) ที่เมืองเพเดนตัน ( Pedendon ) ในเดือนสิงหาคม คศ. 833 หรือ ฮศ. 218 ในขณะพระชนม์มายุได้ 48 ปี

ผลดีผลเสียในรัชสมัยของมะมูน

            ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอัลมะมูนจะไม่ใช่กษัตริย์ ที่เด่นมากท่านหนึ่ง แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ ท่านมิได้เป็นเพียงนักรบที่เก่งกล้า เท่านั้น แต่ยังเป็นนักบริหารที่ดีด้วย  ความตั้งใจในการทำงาน ความฉลาดหลักแหลม ความเมตากรุณา ไหวพริบและความมีใจกว้าง เป็นลักษณะของท่าน รัชสมัยของท่านเป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์อิสลาม ช่วงเวลายี่สิบปีของการปกครอง ท่านได้ทิ้งร่องรอยการพัฒนาด้านสติปัญญาไว้ให้ชาวมุสลิมในเรื่องความคิดรอบด้าน ความก้าวหน้าของสติปัญญานี้มิได้จำกัดอยู่แต่เพียงสาขาหนึ่งใดเท่านั้น แต่ขยายไปทั่วทุกสาขา ในวงการพัฒนา คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ การแพทย์ และปรัชญา เจริญรุ่งเรืองเป็นพิเศษในรัชสมัยของท่าน ๆ ทรงตระหนักได้ดีว่าความสุขของประชาชนขึ้นอยู่กับการศึกษาและวัฒนธรรม จึงทรงแปลความคิดนี้ให้เป็นการกระทำโดยทรงเปิดโรงเรียนและวิทยาลัยให้แก่คนทุกเชื้อชาติ เสรีภาพในการถือศาสนา ก็มอบให้แก่ทุกคน ทรงสร้างสภาแห่งรัฐขึ้น ซึ่งชาวมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมก็มีส่วนร่วมเท่า ๆ กัน
            ตัวท่านเองสนใจในเรื่องคำสอนสาสนา  ทรงรับคำสอนของฝ่ายมุอ์ตะซิละฮ์
( Mutazilite ) ในเรื่องความประสงค์อิสระและการกำหนดสภาวะและรู้สึกตกใจเมื่อมีความคิดแพร่ไปในหมู่ผู้รู้ชาวมุสลิมว่า กุรอ่านไม่ใช่วัจนะของพระผู้เป็นเจ้า ในปี ฮศ. 212 หรือ คศ. 827 ได้ทรงประกาศใช้ลัทธิ มุอ์ตาซีละอ์เป็นลัทธิประจำรัฐ ผู้ที่ถือคำสอนเก่า ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนนอกศาสนาในขณะเดียวกัน ทรงสั่งพลเมืองทั้งหมดของท่านให้เกียรติท่านอะลีในฐานะเป็นคนดีที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างมาหลังจากท่านศาสดาและสั่งห้ามการยกย่องมุอาวิยะห์ ในปี ฮศ. 218 หรือ คศ.833 ก็ทรงออกทฤษฎีใหม่ให้แพทย์และผู้พิพากษาทุกคน ละความคิดที่ว่ากุรอ่านมิใช่วัจนะของพระผู้เป็นเจ้านั้นเสียคนส่วนมาก  เห็นด้วยกับเคาะลีฟะห์ แต่ยังมีบางคนที่ยึดมั่นอยู่กับความเชื่อของตน
            รัชสมัยของมะมูนเป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดทางด้านสติปัญญาในประวัติศาสตร์ของอิสลาม มีการฟื้นฟูการศึกษา หาความรู้ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก ราชสำนักของท่านเปิดรับนักวิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ กวี แพทย์ และนักปรัชญาอย่างกว้างขวาง นอกจากเป็นรัชสมัยที่ภาษาศาสตร์ และไวยกรณ์แล้ว ยังเป็นสมัยแห่งการรวบรวมหะดิษอีกด้วย มีนักรวบรวมหะดิษ คนสำคัญอย่างเช่น บุคอรี ( Bukhari ) และนักประวัติศาสตร์อย่างเช่น อัล วากิดี ( Al – Wakidi ) ยิ่งกว่านั้นราชสำนักของท่านยังต้อนรับชาวยิวและคริสเตียนผู้รู้แตกฉานในภาษาอาหรับ และวรรณกรรมกรีกอีกด้วยท่านได้ทรงแปลงานที่ อัล มันซูร พระบิดาของท่านได้ตั้งต้นไว้จนสำเร็จภายใต้การแนะนำของท่าน หนังสือภาษาสันสกฤต คณิตศาสตร์และปรัชญาของนักกรีกวิทยาศาสตร์ของยูคลิด
( Euclid ) และปโตเลมี ( Ptolemy ) ได้รับการแปลเป็นภาษาอาหรับ คอสตา ( Costa ) บุตรของลุค  ( Lurk ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แปลภาษากรีก และซีเรีย ยะห์ยา บินฮารูน ( Yahya bin Harun ) เป็นผู้แปลภาษาเปอร์เซีย ส่วนหุสันย์ผู้เป็นพาหมณ์เป็นผู้แปลภาษาสันสกฤษให้เป็นภาษาอาหรับ เนื่องจากแรงงานของบรรดาผู้รู้เหล่านี้เองทำให้ชาติต่าง ๆ ในยุโรปซึ่ง ตอนนั้นตกอยู่ท่ามกลางความมืดมนในสมัยกลางได้กลับรู้จักมรดก ทางวิทยาศาสตร์และปรัชญากรีก อันเคยเป็นสมบัติพวกเขาเองแต่ถูกละลืมไปนั้นอีกครั้งหนึ่งภาษาเปอร์เชียได้รับการสนันสนุนเป็นการใหญ่ ได้มีการสร้างหอดูดาวขึ้นที่ราบแห่งแทคมอร์ ( Tadmore ) เพื่อศึกษาดาราศาสตร์และภูมิสาสตร์ ในสมัยนี้มีการสังเกตุศึกษาด้านดาราศาสตร์ได้ก้าวหน้าไปมาก อบุลฮะซัน ( Abul Hasan ) ได้ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์ กวีอับบาส ( Annas ) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มบทกวีสมัยใหม่ของเปอร์เซียและอัล คินดี ( Al – Kindi ) ได้มาทำงานอยู่ใน บัยตุลฮิกมะห์ ” ( Bait – al – Hikmat ) อันมีชื่อเสียงขึ้นในนครบัฆดาด ตัวเคาะลีฟะห์มะมูนเองนั้น ทรงสนพระทัยในเรื่องปรัชญาเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับกำหมดวันอังคารทุกสัปดาห์ไว้เป็นวันสำหรับพูดคุยอภิปรายเรื่องปรัชญาและนักวิชาการโดยเฉพาะ ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่ารัชสมัยของมะมูนนี้เป็นสมัยที่วิทยาการรุ่งเรืองมากในประวัติศาสตร์อิสลาม

ฮารูน อัร – รอชีด

ฮารูน อัร รอชีด ( Harun al – Rashid )
( ฮศ. 170 – 94 , คศ. 786 – 809 )

การขึ้นครองราชย์

            ฮารูนขึ้นครองราชย์เมื่อเกือบอายุยี่สิบห้าปี โดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง ในรัชสมัยของท่านราชอาณาจักรอับบาซียะห์ได้ก้าวสู่ระยะเวลาอันเจริญรุ่งเรืองของการปกครองชาวอาหรับในเอเซีย ซึ่งชื่อเสียงของท่านมิใช่ก้องอยู่เฉพาะแต่ในภาคพื้นภาคตะวันออกเท่านั้น แต่ยังได้แพร่สะพัดไปถึงประเทศตะวันตกด้วย
            งานชิ้นแรกของฮารูนก็คือการเลือกที่ปรึกษาเก่าของท่านคือยะห์ยา บิน คอลิด เป็นเอกอัครเสนาบดี และมอบตำแหน่งสำคัญอีกสองตำแหน่งให้แก่บุตรชายทั้งสองของยะห์ยา คือ ฟาฎิล ( Fadil ) และญะฟัร ( Ja ’ far ) ความสำเร็จและรุ่งเรืองในรัชสมัยของท่านนั้นส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับการทำงานที่ชื่อสัตย์ จงรักถักดีของคนในตระกูลบัรมัก
( Barmak ) นี้เอง ซึ่งประกอบไปด้วยความเอื้อเฟื้ออารีและจิตใจที่กว้างขวางซึ่งชาวอาหรับยกย่องอย่างสูง ต้นตระกูลนี้ก็คือคอลิดบินบัรมัก ( Khalid bin Barmak ) ผู้มีตำแหน่งสูงในสมัยอัสสัฟฟาห์และมัรซูรนั่นเอง
            ถึงแม้ว่าฮารูนจะได้มอบหมายงาน บริหารแก่บุคคลที่เข้มแข็งแล้วก็ตาม แต่ในปีแรกที่ได้ครองราชย์ ก็ยังมีการจลาจลวุ่นวายอยู่ดี ยะห์ยา บิน อับดุลลอฮ์ ซึ่งมาจากตระกูลของท่านอะลี หลบหนีไปอยู่ที่เมืองดีลัม ทางฝั่งตะวันตก เฉียงใต้ของทะเลสาปแคสเปียนได้ประกาศตน เป็นเคาะลีฟะห์ ฮารูนได้ส่งฟาฎิล นำทัพไปปราบแต่แทนที่ฟาฎิลจะต่อสู้กับเขา กับใช้วิธีเจรจาให้ฝ่ายศัตรูพ่ายแพ้โดยสัญญาว่าจะให้ความปลอดภัยและตำแหน่งสูงในกรุงบัฆดาดแก่เขา ยะห์ยายินยอม และเดินทางไปยังบัฆดาด ซึ่งเขาได้รับตำแหน่งตามสัญญา แต่ต่อมาเพียงไม่กี่เดือน เขาก็ถูกเคาะลีฟะห์กล่าวหาว่าคบคิดทำการกบฎจึงส่งตัวเข้าคุกและสิ้นชีพในนั้น
            ด้วยความเกร่งศัตรูฝ่ายอะลีกำเริบขึ้นอีก ฮารูนจึงสั่งให้รวมเอาเมืองที่มีกำลังเข้มแข็งในแคว้นคินเนริสน์ ( Kinnerisn ) และมีเมโสโปเตเมียเข้าเป็นแคว้นพิเศษโดยให้ชื่อว่า อัล อะวาซิม ” ( ป้อมปราการสำหรับป้องกันภัย ) นอกจากนั้นยังทรงบูรณะและเสริมกำลังเมืองตัสซุร ( Tarzus ) ให้แข็งเกร่งขึ้นอีกด้วย กองทัพมุสลิมสามารถยาตราเข้าไปในเอเซียไมเนอร์ท่านก็ถูกโจมตีอย่างกระทันหันโดยพวกคอซัร ( Khasar ) คนเหล่านี้ได้บุกเข้ามาในอาร์เมเนีย และสร้างความพินาศอย่างใหญ่หลวงให้แก่อาณาจักรอิสลาม แม่ทัพผู้กล้าหาญสองคนคือ เคาะซีมะห์ ( Khozema ) และยะซิด อิบนุ มะซาด ( Yazid ibn Mazad ) ถูกส่งตัวไปปราบพวกคอซัรและขับไล่พวกนั้นออกไปจากอาร์เมเนียได้
            ฮารูนได้แต่งตั้งโอรสคนโตของท่านถือยศ อัล อามีน  ( al – Amin ) ผู้จะได้รับตำแหน่งเคาะลีฟะห์ สืบต่อจากท่านโดยตรง และตั้งโอรสท่านที่สองให้ถือยศ อัล มะมูน ( al – manun ) โอรสท่านที่สามได้รับยศ อัล มุอ์ตามิน ( al – Mutamin )

 

ความตกต่ำ

            ในปีต่อมาหลังจากแต่งตั้งโอรสเป็นผู้สืบต่อตำแหน่งแล้ว อะลีก็คิดที่จะโค่นล้มตระกูลบัรมัก ซึ่งเคยรับใช้ท่านถึงสิบเจ็ดปีอย่างซื่อสัตย์และมีความสามารถอย่างเอกอุลงเสีย นักประสัติศาสตร์ได้อธิบายถึงสาเหตุนี้ไว้ต่าง ๆ กัน แต่อิบนุคอดูน ( lbn Khaldun ) นักประวัติศาสตร์ใหญ่ของมุสลิมกล่าวว่าตระกูลนี้มีอิทธิพลมากมายเกินไปอย่างไม่จำกัดยึดเอาอำนาจราชการไว้และก้าวก่ายในกองคลังสาธารณะ ข้าราชการตำแหน่งสูง ๆ ทั่วราชอาณาจักรเป็นผู้ได้รับคัดเลือกจากตระกูลนี้ทั้งสิ้น ทั้งข้าราชการทั้งของฝ่ายทหาร และพลเรือนทุกคนต่างนิยมยกย่องพวกเขาจนกระทั่งมีชื่อเสียงมากกว่าเจ้านายของตนเอง ฉะนั้นอำนาจของตระกูลนี้จึงก่อให้เกิดความอิจฉาริษยาขึ้นขึ้นในราชสำนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ฟัรล์ บิน รอบีอ์ ( Fadl bin Rabi ) ผู้พยายามใส่ร้ายป้ายสีให้เคาะลี-ฟะห์รู้สึกไม่ไว้ใจพวกเขา ฮารูนก็หลงเชื่อจึงสั่งให้ประหารชีวิตญะฟัรเสีย และในวันต่อมายะห์ยา ฟาฎิลและคนอื่น ๆ ในตระกูลบัรมักก็ถูกจับไปจำขังไว้ทรัพย์สินทั้งหมดถูกยึด มีเหลือพียงคนเดียวไม่ถูกรบกวนคือมุฮัมมัด พี่ชายของยะห์ยา ซึ่งเป็นกรมวังของเคาะลีฟะห์ตั้งแต่ ฮศ. 179 หรือ คศ. 795
            ในปีเดียวกันนั้น ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในคอนสแตนติโนเปิลราชินีอีรีนา ( lreena ) ถูกโค่งล้มและจักพรรดิ์ท่านใหม่ คือ นิซฟอรัส ( Nicephorus ) คิดว่าตนเข้นแข็งพอที่จะปฏิเสธที่จะไม่จ่ายเงิน บรรณาการแก่ราชอาณาจักรอิสลาม จึงได้เขียนสาส์นท้าทายมายังฮารูน ฮารูนจึงยกทัพไปปราบเข้าอาร์เซียไมเนอร์ และยึดเมืองฮีราคลี ( Heraclea ) ได้ ตลอดทางที่กองทัพผ่านไป ท่านได้สั่งให้เผาเมืองไปตลอดทาง จนนิซฟอรัส หวาดกลัว จึงเจรจาขอทำสัญญาสันติภาพ แต่พอฮารูนกลับมาเมืองหลวงนิศฟอรัสทำผิดสัญญาฮารูนจึงยกทัพกลับไปอีก นิซฟอรัสได้หนีไปที่สนามรบ แต่การจลาจลที่คูราซานจึงทำให้จักรพรรดิ์ได้ใจ จึงทิ้งสัญญาที่ให้ไว้ตอนหลังอีก และเข้ามาบุกรุกอาณาจักรอิสลามจนถึง เมืองอราซัรบะห์ ( Anasarba ) ไล่ต้อนผู้คนไปเป็นเชลยศึกเป็นจำนวนมาก ฮารูนเหลือที่จะอดทนจึงกรีฑาทัพซึ่งมีจำนวนคน 135,000 คน ไปต่อสู้ยึดได้เมืองฮีราคลีและเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมือง และได้ใช้เมืองธานา ( Thana ) เป็นฐานทัพในขณะเดียวกันแม่ทัพของท่านก็พิชิตเกาะไซปรัส ( Cyprus ) ได้ นิซฟอรัสพ่ายแพ้ยับเยินจนต้องยอมจำนนภายใต้เงื่อนไขที่รุนแรงแต่ในปี ฮศ. 192 หรือ คศ. 817  ขาวกรีกทำผิดสนธิสัญญาอีก ได้เข้ามาโจมตีดินแดนเขตมุสลิมทำความพินาศ เสียหาย แก่ชาวมุสลิมเป็นอันมากอย่างยิ่ง สุดที่เคาะลีฟะห์จะแก้ไขได้
            ฮารูนต้องการจะพิชิตแอฟริกาจึงทรงพยายามยกทัพไปโจมตีหลายครั้ง อิบรอฮีมบินอัฆลับ ( lbrahim bin Aghlab ) เป็นผู้ปกครองแอฟริกาได้ขอเจรจาขอทำสัญญาสนธิมิตรภาพกับฮารูนท่านจึงทรงแต่งตั้งให้อิบรอฮีมเป็นอุปราชแห่งแอฟริกาต่อไป
            ในระหว่างรัชสมัยของฮารูนความอิจฉาริษยาแต่เก่าก่อนของชาวซีเรีย ได้ระเบิดขึ้นทำให้ดามัสกัสต้องวุ่นวายอยู่เป็นเวลาสองปี แต่ในที่สุดก็ถูกปราบให้สงบลงได้ต่อมาเมืองโมซุลก็เต็มไปด้วยการกบฎอยู่เป็นเวลาสองปีจนกระทั่ง  เคาะลีฟะห์เข้ายึดเมืองไว้และทำลายกำแพงเมืองเสีย นอกจากนั้นยังมีการกบฎอย่างรุนแรงมากกว่าเกิดขึ้นที่อาร์เมเนีย และฮัรวาน ( Halwan ) อีก โดยมีหัวหน้าพวกคอริญีย์ ชื่อ อัล วะลีดบินตาอ์รีฟ
( Al – walid bin Tarif ) เป็นหัวหน้าแต่การกบฎนี้ก็ถูกปราบลงได้เช่นเดียวกัน
            ในแคว้นคูราซานก็เกิดจลาจลขึ้นครั้งใหญ่เหมือนกัน  แต่อะลี บิน อีซา ( Ali bin lsa ) ผู้เป็นผู้ปกครองที่นั่นก็ทำการปราบปรามลงได้ ต่อมาร็อบอิบนุลาวิษ ( Rab ibn lawith ) ได้ก่อการกบฎขึ้นในสะมัรก็อนด์ ( Samarkand ) โดยรบชนะบุตรชายของ อะลีบินอีซา อะลีหลบหนีไปจากเมือง ร็อบ เข้ายึดแคว้นนั้นได้จนถึงโอซัส  ( Oxus ) เคาะลีฟะห์ได้ส่งกองทัพไปปราบกบฎ เมื่อร็อบไม่ยอมแพ้ท่านจึงยกทัพไปเองที่คูราซานโดยพาโอรสท่านที่สองไปด้วยในระหว่างทางท่านได้ล้มป่วยและสิ้นชีพในเดือนมีนาคม คศ. 809

 

ผลดีผลเสียในรัชสมัยของเคาะลีฟะห์ฮารูน อัร รอชีด

            ฮารูน อัร รอชิดเป็นเคาะลีฟะห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ทรงเป็นนักปกครองที่สามารถที่สุดคนหนึ่งในโลก ในศตวรรษที่ 9 มีกษัตริย์นามกระเดื่องอยู่สองท่านคือ ชาร์ลมาญ ( Charlemagne ) แห่งโลกตะวันตก และฮารูนแห่งโลกตะวันออก นักประวัติศาสตร์คนสำคัญคือ พี.เค. ฮิตติ  ( P.K. Hlttl ) ได้กล่าวว่ากษัตริย์สองท่านนี้ แน่นอนฮารูนนั้นมีพลังอำนาจมากกว่า และเป็นตัวแทนวัฒนธรรมที่สูงส่งกว่า ท่านทรงปฏิบัติตามศาสนาอย่างไม่ทอดทิ้ง มีชีวิตอย่างไม่ฟุ่มเฟือยมีใจบุญอย่างไม่โอ้อวด แต่กระนั้นก็ยังชอบที่จะแวดล้อมตนเองด้วยความโอ่อ่าและเครื่องราชกุธภัณฑ์ที่หรูหรา ท่านทรงทำตัวตามความคิดคำนึงของประชาชนและบุคลิกของท่านมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง ทรงเป็นทหารและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ทรงนำทัพไปต่อสู้กับชาวกรีกและได้รับชัยชนะมาหลายครั้ง
            ถึงแม้ว่าท่านจะทรงด้อยกว่าโอรสในด้านความเข้มแข็งในบุคลิกภาพ และสติปัญญา ในสมัยเดียวกันในประวัติศาสตร์ของโลก ในรัชสมัยของท่านประชาชนมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดและศิลปะ อารยะธรรมก็ก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก
            ฮารูน อัร รอชีด เป็นกษัตริย์ที่มีความกล้าหาญและความสามารถอย่างผิดธรรมดา จึงสามารถปกครองราชอาณาจักรอิสลามอันกว้างใหญ่ได้เป็นอย่างดีเป็นเวลาถึง 23 ปีในระหว่างนั้นอาณาจักร ก็มีความสงบสุขเรียบร้อยอยู่ทั่วไป พ่อค้า นักศึกษา และนักเดินทางทั้งหลาย สามารถเดินทางไปมาโดยไม่ต้องเกรงภัยอันตรายตามทางเลย ทั่วทั้งราชอาณาจักร อันกว้างใหญ่ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและดีเลิศของการบริหารแผ่นดิน   ท่านจึงมักเดินทางไปทั่วราชอาณาจักเพื่อดูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับความทุกข์ยาก ทรงแจกจ่ายเงินจำนวนมากให้แก่คนยากจนและขัดสนอยู่เนือง ๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมือง ได้ทรงสร้างโรงเรียน วิทยาลัย สถานที่ให้ยารักษาโรค ทรงสร้างมัสญิด ถนนหนทาง และคลอง นับว่าไม่มีเคาะฟะห์ท่านใดก่อนหน้าหรือภายหลังที่ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ราชอาณาจักรเท่าเทียมท่าน แต่สิ่งที่ทำให้รัชสมัยของท่านมีชื่อเสียงมากก็คือ การนำมาซึ่งอักครอักษรศาสตร์ ในราชสำนักของท่านเต็มไปด้วยผู้ที่มีความสามารถเด่นมากมายทั้งขุนนาง ผู้พิพากษา นักพูด นักรวบรวมหะดิษ นักกวี นักร้อง นักดนตรี และการทำให้บัฆดาดกลายเป็นเมืองที่เด่นดึงดูดใจไม่ใช่แต่เพียงเพราะว่ามันเป็นเมืองกว้างขวาง ร่ำรวย และสวยงามเท่านั้น แต่เพราะมันเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปวิทยาและ อารยธรรมอีกด้วย อิสมาอีล ( lsmail ) นักภาษาศาสตร์ ซาฟีอี ( Shafai ) อับดุลลอฮ์บินอิดริส (Abdullah bin ldris) อีซาบิยยูนุส ( lsa bin Unus ) อิบรอฮีม โสมุลี ( lbrahim Mosuli ) นักดนตรี และญิบรีล  ( Gabriel ) ผู้เป็นแพทย์ต่างก็มีชีวิตอยู่ในสมัยนี้ สำนักกฎหมายหะนะฟี ( Hanafi ) เจริญรุ่งเรืองภายใต้การนำของอบูยูซุฟ ( Abu Yasuf ) หัวหน้าผู้พิพากษา ท่านทรงขยายที่ทำการสำหรับแปลงงานทางด้านวิทยาศาสตร์มาเป็นภาษาอาหรับซึ่ง อัล มันศูรเป็นผู้จัดตั้งขึ้นให้ใหญ่ขึ้นด้วย
            ชัยชนะที่ท่านมีต่อพวกไบแซนไตน์และนิซฟอรัสก็ทำให้ท่านมีชื่อเสียงอยู่ในโลกสมัยนั้นมากขึ้นอีก นอกจากนั้น ความรอบรู้ความมีชีวิตชีวา คำสนทนาซึ่งน่าฟังของท่านรวมทั้งของกำนัลที่ท่านมีค่าที่ทรงประทานให้แก่ผู้คน อย่างง่าย ๆก็เป็นที่ดึงดูดให้บุคคลที่เด่น ๆ เข้ามาหาท่านด้วย จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจเลยที่นักเขึยนสมัยหลัง ๆ จะมองย้อนไปดูรัชสมัยของเคาะลีฟะห์ฮารูน อัร รอชิดว่าเป็นสมัยทองของอิสลาม
            กิติศัพท์ของฮารูน อัร รอชิดกระฉ่อนไปทั่วตะวันออกและตะวันตก จนจักรพรรดิ์ชาร์ลมาญแห่งพวกแฟรงค์ ได้ส่งทูตมาเจริญสันถวไมตรี กับราชสำนักท่าน

อัล – มะฮ์ดี อัล – ฮาดี

( ฮศ. 159 – 69 , คศ. 775 – 85 )


            อัล มะฮ์ดีได้เป็นเคาะลีฟะห์สืบต่อจากพระราชบิดาใน ฮศ. 159 หรือ ค.ศ. 775 ทรงเป็นผู้มีอุปนิสัยใจคออ่อนโยนและเอื้อเฟื้อ ทรงเปิดฉากรัชสมัยของท่านด้วยการนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องขังทั้งหลาย นอกจากการอาชญากรร้าย ๆ เท่านั้น ทรงขยายและตกแต่งมัสยิดในเมืองมักกะฮ์ให้สวยงามรวมทั้งในเมืองสำคัญ ๆ อื่น ๆ อีกด้วย ทรงพัฒนาการไปรษณีย์ขึ้นอย่างมาก

            เมืองหลวงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายทั่วโลก ดนตรี กวี นิพนธ์ วรรณกรรม และปรัชญา เจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยนี้ เมื่อไปทำฮัจย์ที่มักกะห์ก็ทรงแจกจ่ายเสื้อผ้านุ่งห่มให้แก่ผู้ขลาดแคลนและทรงแจกเงินแก่พลเมืองในมักกะห์เป็นเงินก้อนใหญ่ ทรงจัดเงินช่วยเหลือประจำปีแก่คนขัดสน และสร้างถนนหนทางที่มีบ่อน้ำและถังเก็บน้ำเพื่อคนเดินทาง ทรงเลือกองครักษ์ของท่านจากเมืองมาดินะห์ และทรงพยายามที่จะลบลอยแผลที่พระราชบิดาทำไว้ ผู้คนก็ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีหนัก ๆ และเริ่มรู้สึกว่าตนมีความปลอดภัย นับว่านโยบายของท่านแตกต่างจากนโยบายของพระราชบิดา

 

การกบฎในคูราซาน

 

            ในคูราซาน ผู้คนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจเนื่องจากทางรัฐบาลไม่ได้ทำตามสัญญา ที่ได้ให้แก่พวกเขาไว้ในระหว่างที่ในสงครามกับราชวงศ์อุมัยยะห์แล้วเคาะลีฟะห์ท่านไหม่ คือมะห์ดี ก็มิได้ตอบสนองคำเรียกร้องของพวกเขา จึงได้เกิดการกบฎขึ้น โดยมียูซุฟบินรอฮีมเป็นหัวหน้า แต่กองทัพของเคาะลีฟะห์รบขนะเขาได้และจับตัวเขามาที่บัฆดาด เขาจึงถูกตรึงกางเขนตาย พร้อมผู้ร่วมคิดของเขาหลายคน ในปีต่อมาได้มีผู้คิดกบฎแก้แค้นเขาโดยคนในลัทธิมุกันนะห์ ( Mokanna ) หรือ ผู้คลุมหน้า ซึ่งได้ชื่อนี้ก็เพราะคนผู้นี้มักจะสวมหน้ากากอยู่เสมอ เมื่อปรากฎตัวในที่สาธารณะ คนผู้นี้ประกาศตัวเองว่าเป็นพระเจ้าอวตาน มาเที่ยวสั่งสอนผู้คนที่ว่าพระผู้เป็นเจ้า แบ่งภาคมาอยู่มาตัวอาดัมในตัวอบูมุสลิมและในตัวเขา มีสมัครพรรคพวกมากมายซึ่งนับถือเขาเป็นพระเจ้า แต่ในปี ฮศ. 163 หรือ คศ. 779 เขาก็ถูกฆ่าตาย และศรีษะของเขาถูกส่งไปให้มะห์ดี

 

การรุกราน ของชาวไบแซนไตน์

            ชาวโรมันได้มารุกรานเขตแดนมุสลิมเมื่อ ฮศ. 163 หรือ คศ. 779 พวกเขาได้ตีเมืองมารัช ( Marash ) ได้ มะห์ดีจึงส่งตัวฮะซันบินกอฮ์ตาบะฮ์ ( Hasan bin Kahtaba ) เป็นแม่ทัพไปตี และได้ชัยชนะชาวโรมันจนถึงเมืองอัชรุลียะห์ ( Adhruliya ) แต่แล้วพวกโรมันก็หวนกลับมาอีก มะห์ดีจึงต้องยกทัพไปเองพร้อมกับโอรสที่สองคือ ฮารูน
( Harun ) โดยทิ้งให้โอรสคนแรกคือ มูซา ( Musa ) ให้คอยดูแลบัฆดาดแทน ทรงยกทัพไปเมโสโปเตเมีย และซีเรียไปเข้าสู่ ซิสิเลีย ( Sicilia ) และไปตั้งทัพอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำญิฮาน
( Jihan ) ปิรามุส ( Pyramus ) ครั้งแล้วก็ทรงส่งกองทัพใหญ่ให้ฮารูนเป็นแม่ทัพไปฮารูนยึดได้ป้อมแห่งสะมาลู ( Samalu ) หลังจากล้อมไว้ 38 วัน ด้วยความสามารถนี้มะห์ดีจึงได้ทรงแต่งตั้งให้ ฮารูนเป็นผู้ปกครองดินแดนทั้งหมดทางภาคตะวันตกของราชอาณาจักรรวมทั้งอาเซอร์ไบยานและอาร์เมเนียด้วย ต่อมาอีกสองปีเกิดสงครามขึ้นระหว่าง กองทัพกรีกกับมุสลิม กองทัพกรีก 90,000 คน มีไมเคิล ( Michael ) เป็นแม่ทัพตรงเข้ามาสู่เอเซียไมเนอร์
            ฮารูนยกทัพไปตามฝั่งทะเลจนถึงช่องแคบบอสฟอรัส ( Bosphorus ) ฝ่ายกรีกขอสงบศึกโดยทำสัญญาพักรบเป็นเวลาสามปีและยอมจ่ายเงินราชบรรณาการให้แก่ฝ่ายมุสลิมปีละ 90,000 ดินาร์ ความสำเร็จอันงดงามนี้ทำให้มะห์ดีโปรดปรานฮารูนมากขึ้น จนทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้สืบต่อตำแหน่งมูซาและตั้งชื่อให้เขาว่า อัร รอชีด ( ผู้เดินตามทางที่ถูกต้อง ) ต่อมาอีกสามปีมะห์ดีก็ตัดสินใจที่จะให้ฮารูนเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งก่อนมูซาและเรียกตัวมูซาซึ่งกำลังทำการปราบกบฎกลับมา มูซาไม่ยอมทำตามความประสงค์ของพระราชบิดา มะห์ดีจึงตัดสินใจที่จะยกทัพไปปราบมูซาเอง แต่ก็สิ้นเสียกลางทางที่สถานที่แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า มาซันตาน ( Masantan )
            รัชสมัยของมะห์ดีเป็นเวลาที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ได้ทรงทำการสร้างราชอาณาจักรอย่างมากมาย การเกษตรและการค้าก็เจริญรุ่งเรือง รายได้ของแผ่นดินก็เพิ่มขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี อำนาจของรัฐเป็นที่ยอมรับกันแม้กระทั่งตะวันออกไกล จักรพรรดิ์ของจีน กษัตริย์ธิเบตและเจ้าชายของอินเดียหลายองค์ทำสนธิสัญญากับเคาะลีฟะห์ท่านทรงเป็นเอกในความศรัทธาที่เคร่งครัด ทรงปฏิเสธคำสั่งสอนที่เหลวไหล ของพวกสอนศาสนาอับบาซียะห์ สั่งสอนที่พระราชบิดาของท่านทรงนับถือ

อัล ฮาดี ( ฮศ. 169 – 70 , คศ. 785 – 86 )
            เมื่อมะห์ดีสิ้นชีพลงแล้ว ฮารูนก็ได้มอบคทาและตราตั้งผนึกพร้อม ด้วยสาสน์และแสดงความยินดีให้แก่มูซาพระเชษฐาที่เมืองญัรญุน ( Jurjin ) มูซาจึงรีบกลับมารับยศอัลฮาดีที่เมืองหลวง แต่ท่านไม่ทรงไว้วางใจในพระอนุชาของท่านเอง จึงวางแผนที่จะกีดกันเขาออกเสีย จากตำแหน่งเคาะลีฟะห์และต้องการที่จะแต่งตั้งโอรสของท่านคือ ญะฟัร ( Ja ’ Far ) ให้สืบตำแหน่งแทน ด้วยเหตุผลนี้จึงทรงจับตัวยะห์ยาบินคอลิด
( Yahya bin Khalid ) ที่ปรึกษาใหญ่ของฮารูนรวมทั้งบริวารหลายคนของฮารูนซึ่งทรงคิดว่าเป็นภัยต่อราชบัลลังก์เข้าคุกไป ดังนั้นราชสำนักแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งมีอัล ฮาดี เป็นหัวหน้า และอีกกลุ่มหนึ่งมีฮารูนเป็นหัวหน้า เมื่อการแก่งแย่งชิงดีถึงขั้นหนักหน่วงฮารูนก็ออกจากพระราชวังไปเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
            ผู้ปกครองมะห์ดีได้ปฏิบัติต่อสมาชิกบางคนของตระกูลของท่าน หุสัยน์อย่างรุนแรงด้วยข้อหาว่าดื่มสุราเมามายหุสัยน์ บิน อะลี บินฮะซัน ที่ 3 ( Husayn Ali bin Hasan lll ) จึงแข็งข้อขึ้นที่มะดีนะฮ์ โดยมีผู้สนับสนุนมากมาย แต่เขาถูกฆ่าตาย พร้อมด้วยพวกอะลีอีกหลายคน แต่ลุงของเขาคือ อิดริส บิน อับดุลลอฮ์ ( ldris bin Abdullah ) ซึ่งเป็นน้องชายของมุฮัมมัดและอิบรอฮีม ได้หนีไปอียิปต์ได้สำเร็จและผ่านไปยังแอฟริกาตะวันตกซึ่งเขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพวกเบอร์เบอร์และได้ตั้งราชวงศ์อิดรีซียะห์ขึ้นที่นั่น หลังจากครองราชย์ได้ไม่ถึงสองปี อัล ฮาดีก็สิ้นชีพ ในสมัยของท่าน อิทธิพลเปอร์เซียในราชอาณาจักรได้ขึ้นถึงขีดสูงสุด ได้รับเอางานฉลองปีไหม่ และประเพณีของเปอร์เซียอื่น ๆ ไว้เครื่องแต่งกายและหมวกแบบเปอร์เซียก็เริ่มมีผู้ใช้กันขึ้นมา