วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประวัติวันครู (อิสลามกับวันครู)

วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่าที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้องจากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น วันครูโดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้

อิสลามกับวันครู
ครูให้อะไรแก่ศิษย์ ? 
1) ให้ความรู้ 
ความรู้ที่จะยังประโยชน์แก่ศิษย์ในฐานะผู้รับ และแก่ตัวครูเองในฐานะผู้ให้ ทั้งในดุนยา และอาคิเราะฮ ความรู้ที่ครูได้ถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ คือความรู้ที่ยังประโยชน์ เมื่อศิษย์ได้รับประโยชน์จากความรู้ อัลลอฮจึงให้ประโยชน์ดังกล่าวเป็นอานิสงส์ แก่ครูเช่นเดียวกัน
 

2) ให้โอกาส
 
ครูต้องให้โอกาสศิษย์เสมอในการศึกษาเล่าเรียน เพราะการศึกษาเล่าเรียนไม่มีคำว่าสาย เมื่อโอกาส และจังหวะของชีวิตแต่ละคน อัลลอฮทรงกำหนดให้ไม่เหมือนกัน ครูจึงไม่ควรปิดกั้นโอกาสของศิษย์ ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ
 

3) ให้ความคิด
 
นอกจากความรู้ที่ครูจะต้องถ่ายทอดให้แก่ศิษย์โดยไม่ปิดบังแล้ว ครูจะต้องให้ความคิดแก่ศิษย์ด้วย คือให้ศิษย์คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น รวมทั้งสามารถนำความรู้ไปขยายต่อ หรือนำไปประยุกต์ใช้ในภาวะต่างๆได้ ครูจึงไม่ใช่ครูสอนหนังสือ แต่เป็นครูสอนคน และสอนคนให้เป็นมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนา
 

4) ให้ชีวิต
 
ครูเป็นผู้ให้ชีวิต ในที่นี้หมายถึง ให้จิตวิญญาณ และอุดมการณ์ ซึ่งเป็นสารัดถะสำคัญของชีวิต นักเรียน นักศึกษาหลายคนที่ประสบความสำเร็จอันเนื่องมาจากมีครูที่ให้อุดมการณ์ และให้จิตวิญญาณแก่ศิษย์ จนสามารถยึดเป็นหลักในการต่อสู้ และฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆของชีวิตได้
 

5) ให้กำลังใจ
 
ครูต้องเป็นผู้ให้กำลังใจศิษย์ โดยเฉพาะเมื่อศิษย์เกิดความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ หรือหมดหวัง การให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่ครูไม่ควรมองข้าม กำลังใจเปรียบเหมือนยาหอมที่ชโลมใจให้รู้สึกสดชื่นอยู่เสมอ ศิษย์หลายคนที่เคยท้อแท้ในชีวิต แต่เมื่อได้กำลังใจจากครูก็กลับฮึดสู้จนประสบความสำเร็จได้
 

6) ให้อภัย
 
ครูต้องให้อภัยศิษย์เสมอ ไม่ว่าศิษย์จะทำความผิดมากน้อยเพียงใด การให้อภัยเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งของผู้ที่เป็นครู หากครูเป็นพ่อ ลูกศิษย์ก็คือลูก เมื่อลูกทำอะไรที่ผิดพลาด พ่อควรว่ากล่าวตักเตือนด้วยความเอ็นดู ควรให้อภัย และให้โอกาส
 



ครุคือผู้เติมเต็ม... 


ศิษย์ทุกคนที่เราสอนล้วนมีความรู้ โดยเฉพาะความรู้ที่ครูไม่รู้ ครูกับศิษย์จึงรู้กันคนละอย่าง มีความถนัดกันคนละอย่าง ดังนั้นครูจึงมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเติมเต็ม และต่อยอดความรู้ที่เรายังขาดกันคนละอย่าง
 

คำอธิบายนี้ทำให้ผมนึกถึงระบบครูกับศิษย์ในกระบวนการถ่ายทอดหะดีษในอิสลาม กล่าวคือ ในการรายงานหะดีษนั้น ครูกับศิษย์จะทำหน้าที่เป็นผู้เติมเต็มให้กันและกัน ครูจะให้รายงาน (หะดีษ) แก่ศิษย์ ในขณะที่ศิษย์ก็จะให้รายงาน (หะดีษที่ครูไม่มี) แก่ครู ครูจึงเป็นทั้งครูทั้งศิษย์โดยทำหน้าที่เติมเต็มให้แก่กัน
 

ครูเติมเต็มอะไรให้แก่ศิษย์ ?
 

1) เติมเต็มความรู้
 

หมายถึง เติมเต็มความรู้ที่ศิษย์ไม่เคยรู้มาก่อน หรือเคยรู้มาอย่างผิดๆ หรืออย่างขาดๆ เกินๆ ครูต้องเป็นผู้เติมเต็มส่วนนี้ให้แก่ศิษย์ ขณะเดียวกันศิษย์ก็อาจเติมเต็มส่วนนี้ให้แก่ครูเช่นเดียวกัน เป็นไปตามทฤษฎีข้างต้นที่บอกว่า เรารู้กันคนละอย่าง
 

2) เติมเต็มประสบการณ์
 

ครูมิใช่เป็นผู้เติมเต็มเฉพาะความรู้เท่านั้น แต่ครูจะต้องเติมเต็มประสบการณ์ให้แก่ศิษย์ด้วย ประสบการณ์ที่ครูถ่ายทอดให้แก่ศิษย์จะเป็นประโยชน์อย่างมาก และอาจมากกว่าความรู้ด้วยซ้ำไป ครูจึงไม่ควรหวงประสบการณ์ แต่ควรเติมในส่วนที่ศิษย์ยังขาดอยู่ และศิษย์ก็มีส่วนช่วยเติมในส่วนที่ครูขาดอยู่เช่นเดียวกัน
 

3) เติมเต็มสติปัญญา
 

ครูได้ชื่อว่าเป็นผู้จุดประกายสติปัญญาให้แก่ศิษย์ ให้ศิษย์คิดเป็น ทำเป็น และรู้จักใช้สติปัญญาไปในทางที่ถูกต้อง และครูยังได้ชื่อว่าเป็นผู้เติมเต็มสติปัญญาให้แก่ศิษย์อีกด้วย เนื่องจากพัฒนาการของสติปัญญานั้นจำต้องอาศัยแบบฝึกหัดต่างๆจากครู เพื่อสติปัญญาจะได้รับการพัฒนาไปสู่จุดที่สมบูรณ์ และสุกงอมที่สุด
 


ครูคือผู้มีเมตตา...
 

ความเมตตาเป็นคุณธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งของครูที่จะขาดเสียมิได้ ครูที่สอนศิษย์ด้วยความเมตตาจะอยู่ในดวงใจของศิษย์ทุกคน และที่สำคัญคือ ครูจะได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺเป็นพิเศษ ดังหลักฐานจากอัลหะดีษบทหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า:
 


"
اِرْحَمْ مَنْ فِيْ اْلأَرْضِ يَرْحَمُكَ مَنْ فِيْ السَّمَاءِ " 

ความว่า ท่านจงเมตตาผู้อยู่ในโลก(มนุษย์)แล้วผู้อยู่บนฟ้า (อัลลอฮฺ) จะเมตตาท่าน (บันทึกโดยติรมิซียฺ )
 


ใครบ้างที่ครูมีเมตตา ?
 

1) เมตตาต่อศิษย์
 

ครูควรมีเมตตาต่อศิษย์ทุกคน และควรถือว่าศิษย์ทุกคนเป็นเสมือนลูก เสมือนหลาน ความเมตตาที่มีต่อศิษย์จะทำให้ครูมีความกระตือรือร้นในการสอน และสอนด้วยความสุข เพราะในดวงจิตของครูมีแต่ความปรารถนาดีที่ต้องการให้ศิษย์มีความรู้ และมีอนาคตที่ดีในภายภาคหน้า ครูที่มีเมตตาจะพูดกับศิษย์ด้วยคำพูดที่มีความไพเราะสุภาพ และอ่อนโยน และจะให้กำลังใจศิษย์อยู่เสมอ
 

2) เมตตาต่อญาติ
 

ครูควรมีเมตตาต่อญาติพี่น้องด้วยการช่วยเหลือ อนุเคราะห์ และสนับสนุนให้ทุกคนมีการศึกษา มีความก้าวหน้าในชีวิต และการงาน และช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทบาดหมางระหว่างเครือญาติ การมีเมตตาต่อญาติพี่น้อง จะทำให้ครูเป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์และของคนทุกคน
 

3) เมตตาต่อมิตร
 

โดยธรรมชาติของอาชีพครู ครูจะมีแต่ผู้ที่เป็นมิตร ทั้งที่รู้จัก และไม่รู้จัก ดังนั้นครูจึงต้องมีเมตตาต่อมิตรทุกคน ด้วยการช่วยเหลือ การให้คำแนะนำ และอื่นๆ ตามอัตภาพ การมีเมตตาต่อมิตรจะบ่งบอกถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีของครู ทำให้ครูเป็นที่รักและเคารพแก่ศิษย์ แก่บุคคลทั่วไป
 

4) เมตตาต่อศัตรู
 

การมีเมตตาต่อศัตรูถือเป็นคุณธรรมขั้นสูงที่ครูทุกคนพึงมี เนื่องจากครูเป็นปูชนียบุคคล หมายความว่าเป็นบุคคลที่น่านับถือ ที่สำคัญคือครูเป็นตัวอย่างที่ดีของศิษย์ หากครูเป็นคนวู่วาม ใจร้อน และชอบผูกพยาบาท ครูก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ได้ การมีเมตตาต่อศัตรู คือการไม่โกรธ ไม่ผูกพยาบาท และการให้อภัย ซึ่งทั้งหมดเป็นคุณธรรมอิสลามที่ท่านนบีได้ทำเป็นแบบอย่างไว้แล้วทั้งสิ้น
 

5) เมตตาต่อคนทุกคน
 

เมื่อครูคือผู้ที่มีหน้าที่อบรมสั่งสอน ครูจึงต้องมีความเมตตาต่อคนทุกคนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะบทบาทของครูคือบทบาทของอุละมาอฺ (ผู้รู้) ในการเผยแพร่ เป็นบทบาทเดียวกับท่านนบี (ซ.ล.) ที่ถูกส่งมาเพื่อเป็นความเมมตาต่อชาวโลกทั้งมวล ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า:
 

"
وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِّلْعَالَمِينَ " 

ความว่า และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาต่อชาวโลกทั้งมวล (21 : 107)
 

ท่านนบี(ซ.ล.) เป็นแบบอย่างของครูผู้มีเมตตาแก่คนทุกคน ท่านเคยกล่าวว่า:
 

"
وَلكِنْ بَعَثَنِيْ مُعَلِّمًا مُيَسِّرًا " 

ความว่า แต่(อัลลอฮฺ)ได้ส่งฉันมาเป็นครู และเป็นครูที่ง่ายๆ (บันทึกโดยอะห์หมัด)
 

คำว่า เป็นครูที่ง่ายๆ หมายความว่า เป็นครูที่สอนสิ่งที่ง่ายๆ หรือสอนสิ่งที่ยากให้เป็นสิ่งง่าย และหมายถึง ครูที่มีความเรียบง่าย ดูแลเอาใจใส่ลูกศิษย์ ให้ความเมตตาต่อลูกศิษย์โดยเสมอกัน



บทส่งท้าย
 
ครูคือผู้ให้ ครูคือผู้เติมเต็ม ครูคือผู้มีเมตตา ดังนี้อาชีพครูจึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ท่านนบี (ซ.ล.) นั้นให้เกียรติผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครู แม้ว่าจะเป็นคนต่างศาสนิก หรือศัตรู ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ท่านได้ไถ่ตัวเชลยศึกในสงครามบะดัร ซึ่งเป็นมุชริกีน ชาวมักกะฮฺ โดยให้เป็นครูสอนเด็กมุสลิมชาวนครมะดีนะฮฺจำนวนสิบคน แบบอย่างของท่านนบีนี้เป็นแบบอย่างที่งดงามที่มุสลิมทุกคนควรตระหนัก หากมุสลิมได้ตระหนักแล้ว กรณีการฆ่าครู หรือทำร้ายครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน
 

ความสำคัญของครูในทัศนะอิสลาม 
จากท่านอะบีอุมามะฮ์ ท่านนบี กล่าวว่า
 
แท้จริง อัลลอฮฺ มะลาอิกะฮฺของพระองค์ และชาวฟ้าและแผ่นดิน จนแม้กระทั่งมดในรูของมัน และแม้กระทั่งปลา ต่างก็ปราสาทพรแก่ครูผู้ที่สอนมนุษย์ทั้งหลาย ให้ประสบความดี
 
ในทัศนะของอิสลาม การตอบแทนความดีให้แก่ครูซึ่งสอนลูกศิษย์ด้วยความอุตสาหะและความตั้งใจ สามารถทำได้ดังนี้
 
1. เชื่อฟังครู ตราบเท่าที่ครูไม่สอนให้ฝ่าฝืนคำสั่งของศาสนา
 

การเชื่อฟังครู เป็นสิทธิ์ของผู้ที่เรียน จำเป็นต้องเชื่อฟังครูผู้สอน หากแต่ว่าครูได้สั่งให้ปฏิบัติสิ่งที่ขัดกับหลักการ และบทบัญญัติของศาสนา เช่นนี้อนุญาตให้ฝ่าฝืนครูผู้สอนได้ และการฝ่าฝืนครูที่สอนหรือการบังคับให้ปฏิบัติสิ่งที่ขัดกับหลักการศาสนา ไม่ถือว่าเป็นการเนรคุณต่อครูอาจารย์ เพราะถือว่าคำสอนหรือการบังคับของครูจะต้องไม่นอกเหนือคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า อีกทั้งท่านนบีมุหัมมัดยังได้กล่าวไว้อีกว่าไม่มีการเชื่อฟังสิ่งที่ถูกสร้าง ให้ฝ่าฝืนผู้สร้างยกตัวอย่างเช่นครูสั่งให้ลูกศิษย์ไปซื้อสุรา หรือครูสอนให้ขโมยสิ่งของผู้อื่น เช่นนี้เป็นต้น
 
2. ให้เกียรติแก่ครู
 
อิสลามสอนให้ผู้ที่เป็นลูกศิษย์ให้เกียรติแก่ครูอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ต่อหน้าหรือลับหลังก็ตาม
 
จากท่านอุบาดะฮฺ บุตรของศอมิตฺ แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
 
ไม่ถือว่าเป็นประชาชาติของฉัน สำหรับบุคคลที่ไม่ให้เกียรติต่อผู้อาวุโสของเรา, ผู้ที่ไม่เมตตาเยาวชนของเรา และผู้ไม่รู้จักสิทธิต่อผู้มีความรู้ของเรา” 20
 
จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ กล่าวว่า
 
พวกท่านจงนอบนอมต่อบุคคลที่ศึกษาความรู้จากเขา” 21
 
จากท่านอบู อุมามะฮฺ จากท่านนบีมุหัมมัดกล่าวว่า
 
บุคคล 3 ประเภทที่จะต้องให้ความสำคัญ นอกจากมุนาฟิก(ผู้กลับกลอกที่ไม่ให้ความสำคัญ)ผู้อาวุโสที่อยู่ในครรลองของอิสลาม, ผู้มีความรู้ และผู้นำที่ยุติธรรม” 22
 
3. นอบน้อมถ่อมตนต่อครูอาจารย์
 
จากท่านอบู ฮูร็อยเราะฮฺ กล่าวว่า
 
พวกท่านจงนอบน้อมต่อบุคคลที่ศึกษาความรู้จากเขา” 23
 
ท่านอิมามชาฟิอีย์ กล่าวว่า
 
ฉันเคยยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งต่อหน้าท่านอิมามมาลิกฺ ด้วยความนอบน้อมและด้วยความเคารพ โดยหวังว่าไม่ทำให้เขาได้ยินเสียงหล่นของกระดาษ
 
4. ตั้งใจฟังสิ่งที่ครูกำลังสอน
 
การตั้งใจฟังในสิ่งที่ครูสอน ถือว่าเป็นมารยาทของผู้เรียนที่มีต่อครู ซึ่งมีรายงานหะดีษบทหนึ่งกล่าวในทำนองที่ว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺนั่งฟังท่านนบีมุหัมมัดสอนอย่างสงบนิ่ง จนนกมาเกาะที่ศีรษะของพวกเขาโดยนึกว่าเป็นตอไม้ นี่ก็แสดงให้เห็น ถึงการตั้งใจฟังคำสอนของอิสลาม อีกทั้งยังแสดงออกถึงการให้เกียรติแก่ผู้สอนอีกด้วย
 
สรุปตรงนี้ว่า อิสลามส่งเสริมการให้เกียรติและเชื่อฟังครูผู้สอนตราบเท่าที่ครูผู้สอนไม่สั่งสอนหรือบังคับให้กระทำในสิ่งที่สวนทางกับคำสอนของอิสลาม โดยไม่พิจารณาว่าผู้สอนจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม ถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกันทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น